วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

อิทธิพลของ George Martin ต่อบทเพลงของ The Beatles




หากจะเปรียบ The Beatles เป็นเพชรเม็ดงาม ก็ต้องถือว่าผู้จัดการวง Brian Epstein เป็นผู้ค้นพบ แต่คงต้องให้เครดิตกับโปรดิวเซอร์ George Martin ในฐานะผู้ที่ช่วยเจียระไนให้มันกลายเป็นเพชรเม็ดงาม โดยดึงเอาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวพวกเขาออกมา


ผมได้พูดถึงอิทธิพลของ George Martin ไปบ้างแล้วในบทความ “The Fifth Beatle” สำหรับวันนี้ ผมขอพูดเฉพาะเจาะจงถึงอิทธิพลสำคัญของ George Martin ที่มีต่อ 11 เพลงของ The Beatles ดังนี้ครับ

1. Love Me Do (จากอัลบั้มแรก Please Please Me มี.ค.1963 ซึ่งยังอัดในระบบโมโน) แม้จะเป็นซิงเกิลฮิตเพลงแรกของ The Beatles (ขึ้นถึงแค่อันดับ 17 ในอังกฤษและอันดับ 4 ในอเมริกา) แต่คงเป็นเพลงที่ Ringo Starr อยากจะลืม เพราะ George Martin ตัดสินใจว่าจะใช้มือกลองชื่อ Andy White แทน เป็นไปได้ว่าตอนนั้นฝีมือตีกลองของ Ringo อาจจะยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นที่ Martin พอใจ
2. Please Please Me (อัลบั้ม Please Please Me) เดิม John Lennon แต่งซิงเกิลฮิตเพลงที่สองของวงเพลงนี้ (ขึ้นถึงอันดับสองในอังกฤษ) โดยต้องการให้เป็นเพลงช้าแนวเดียวกับเพลงของ Roy Orbison แต่ Martin แนะนำว่าควรจะทำออกมาเป็นเพลงเร็วมากกว่า
3. Yesterday (อัลบั้ม Help! ส.ค.1965) สำหรับเพลงนี้ George Martin เห็นว่าเสียงร้องบวกการเล่น acoustic guitar ของ Paul แทบจะสมบูรณ์ลงตัวในความเรียบง่ายอยู่แล้ว สิ่งที่เขาเพิ่มเติมเข้าไปก็เป็นเพลงเสียงประสานของเครื่องสายไวโอลินที่บรรเลงเบาๆเป็น background เท่านั้น
นี่เป็นสไตล์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการใช้ big sound ของโปรดิวเซอร์ Phil Spector จากอัลบั้ม Let It Be ในเพลง The Long and Winding Road ที่ใช้วงออร์เคสตราแบ็คอัพขนาดใหญ่ซึ่งเสริมเครื่องดนตรีจำนวนมากกว่าปกติ ทำให้สไตล์เพลงออกมาผิดไปจากที่ Paul ต้องการ ไม่ได้บรรยากาศง่ายๆที่ตั้งใจไว้แต่แรก จนต้องเอามาทำใหม่ในอัลบั้ม Let It Be…Naked ที่ตัดเสียงวงใหญ่แบ็คอัพ เหลือแค่เสียงเปียโนคลอเสียงร้องของ Paul (ตรงนี้คงแล้วแต่ชอบนะครับ สำหรับผม ชอบทั้งสองเวอร์ชันซึ่งดีไปคนละแบบ) มีเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆเกี่ยวกับอัลบั้ม Let It Be…Naked ซึ่งผมจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ



4. In My Life (อัลบั้ม Rubber Soul ธ.ค.1965) เมื่อ Lennon ต้องการแต่งเพลงที่มีอารมณ์เพลงประเภทครวญหาอดีตอย่าง Yesterday และมีกลิ่นอายแบบ baroque โปรดิวเซอร์ Martin จึงช่วยแต่งและบรรเลงท่อนแยกด้วย harpsichord ซึ่งเป็นท่อนที่พวกเราคงจำกันได้ดีเพราะค่อนข้างมีเอกลักษณ์
5. Eleanor Rigby (อัลบั้ม Revolver ส.ค.1966) ตรงกันข้ามกับ Yesterday การบรรเลงของเครื่องสาย 8 ชิ้น (octet) ที่เรียบเรียงโดย George Martin ในเพลงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะการเล่นเครื่องสายแบบ staccato (สีคันชักด้วยช่วงสั้นๆอย่างรวดเร็ว) ในท่อนแยกของเพลงนี้เป็นเสียงที่เป็นเอกลักษณ์และคุ้นหูที่สุดท่อนหนึ่งในแวดวงดนตรีป็อป
          6. A Day in the Life (อัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band มิ.ย. 1967) ท่อนไคลแม็กซ์ของเพลงนี้แม้จะเป็นไอเดียของ Paul ที่ต้องการให้วงออร์เคสตราค่อยๆบรรเลงจากโน้ตต่ำไล่ไปหาสูง แต่เนื่องจากนักดนตรีแนวนี้ซึ่งปกติจะเล่นตามโน้ตที่เขียนมาคงไม่ทราบว่าแต่ละคนจะต้องเล่นโน้ตตัวไหน ในสารคดีชุด Soundbreaking Martin เปิดเผยเคล็ดลับในเรื่องนี้ เขาแก้ปัญหาด้วยการบอกให้นักดนตรีแต่ละคนเล่นโน้ตตัวไหนก็ได้โดยไล่จากต่ำไปหาสูง ขออย่างเดียวต้องเป็นโน้ตคนละตัวกับนักดนตรีที่เล่นอยู่ข้างๆ ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมตอนจบของเพลงนี้จึงฟังดูสับสนวุ่นวายได้ขนาดนั้น



          7. Being for the Benefit of Mr. Kite (อัลบั้ม Sgt. Pepper’s) สำหรับเพลงนี้ Lennon มอบหน้าที่ให้ Martin สร้างเสียงที่ฟังดูเหมือนเสียงในคณะละครสัตว์หรืองาน carnival (ประเภทงานวัดบ้านเรา) Martin เล่นและผสมเสียงเครื่องดนตรีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น harmonium (คล้าย accordion ใช้มือหรือเท้าในการปั๊มแรงดันลม) ออร์แกนหลายๆประเภท เปียโน glockenspiel (คล้ายระนาด) เพื่อให้ได้เสียงในแบบที่ต้องการ
          8. Strawberry Fields Forever (อัลบั้ม Magical Mystery Tour พ.ย.1967) เพลงนี้น่าจะเป็นงานยากที่สุดเพลงหนึ่งในหน้าที่โปรดิวเซอร์ของ Martin เพราะ John อัดต้นฉบับเพลงนี้ไว้สองเวอร์ชันด้วยคีย์และความเร็วที่แตกต่างกันแต่เขาต้องการให้จับสองเวอร์ชันนี้ผสมกันทำนองรักพี่เสียดายน้อง Martin กับวิศวกรเสียง Geoff Emerick ต้องใช้วิธีตัดต่อและปรับความเร็วเทปทั้งสองเวอร์ชันเพื่อให้เสียงที่ออกมากลมกลืนเข้ากันให้ได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆในยุคที่ยังใช้เทป analog ไม่ใช่ระบบ digital เหมือนสมัยนี้
          9. I Am the Walrus (อัลบั้ม Magical Mystery Tour) เพลงของ John Lennon เพลงนี้เป็นเพลงที่ George Martin ไม่ชอบเมื่อได้ยินเป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับมอบหมายให้แต่งและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยวงออร์เคสตรา เป็นที่มาของการบรรเลงแบ็คอัพด้วยหมู่ไวโอลิน เชลโล เครื่องเป่า คลาริเน็ต และคณะนักร้องเสียงประสาน (choir) 16 คน ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Martin จึงไม่ชอบเพลงนี้ เพราะแม้แต่ Lennon ยังเคยพูดทีเล่นทีจริงว่าเขาไม่หวังให้ใครมาฮัมเพลงนี้ได้เหมือนเพลง Yesterday



          10. All You Need Is Love (อัลบั้ม Magical Mystery Tour) เพลงสัญลักษณ์ของยุคฮิปปี้หรือยุคแห่งการแสวงหา เป็นความคิดของ Martin ที่เริ่มต้นเพลงนี้ด้วย La Marseillaise เพลงชาติฝรั่งเศสและแอบใส่ท่อนหนึ่งจากเพลงแนวแจ๊สบิกแบนด์ระดับคลาสสิค In the Mood ของ Glenn Miller เข้าไป นอกจากนี้ Martin ยังเล่นเปียโนในเพลงนี้ด้วย
          11. Good Night (The Beatles หรือ White Album พ.ย. 1968) แม้ว่าอัลบั้มแผ่นคู่นี้จะเป็นอัลบั้มที่ Beatle แต่ละคนแสดงความเป็นตัวของตัวเองกันอย่างเต็มที่โดยโปรดิวซ์เพลงด้วยตัวเองจนทำให้รูปแบบเพลงที่ออกมาหลากหลาย แต่ Martin ก็ยังอุตส่าห์ยืนยันความเป็นโปรดิวเซอร์ในแบบฉบับของเขาด้วยการใช้เครื่องสายบรรเลงในเพลงนี้ เป็นเพลงปิดท้ายอัลบั้มที่หวนกลับไปหาความนุ่มนวลละมุนละไมในอดีต
          น่าสังเกตว่า ในจำนวน 11 เพลงที่พูดมา เป็นเพลงของ Lennon เสีย 8 เพลง (ทุกเพลงยกเว้น Love Me Do, Yesterday, Eleanor Rigby) ทำให้ขัดกับคำพูดของเขาที่เคยบอกว่า ‘When people ask me questions about “What did George Martin really do for you?,” I have only one answer, “What does he do now?” I noticed you had no answer for that! It's not a putdown, it's the truth.’ [เมื่อคนถามผมว่า "George Martin ทำอะไรให้คุณบ้าง?" ผมคงตอบย้อนถามว่า "แล้วตอนนี้เขาทำอะไรอยู่?" ผมคิดว่าคุณคงตอบไม่ได้! ผมไม่ได้ต้องการจะดูถูก แต่มันคือความจริง]





          นี่จึงน่าจะเป็นความเห็นที่แสดงถึงอัตตาของ John มากไปหน่อยครับ
          ตามคำให้สัมภาษณ์ของ George Martin ในสารคดีเรื่อง Produced by George Martin เขาเจ็บปวดมากตอนที่ Lennon มอบหน้าที่โปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม Let It Be ให้กับ Phil Spector เพราะเป็นอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวของ The Beatles ที่ Martin ไม่ได้เป็นโปรดิวเซอร์ให้ (ผมดูสารคดีเรื่องนี้ทางช่อง Sundance Channel ยังหาแหล่งดาวน์โหลดไฟล์ไม่ได้ ใครทราบช่วยบอกด้วยครับ)
          แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีว่า John คงได้คิดในเรื่องนี้ เลยชวน Martin กลับมาช่วยทำสตูดิโออัลบั้มสุดท้ายของวงคือ Abbey Road ที่เคยเขียนเล่าให้ฟังไปแล้วในบทความ “ประวัติของวง ตอนที่ 4” ว่าเป็นอัลบั้มสั่งลาที่ The Beatles มารวมตัวกันเพื่อทำอัลบั้มเพื่อแฟนเพลงของวงเป็นครั้งสุดท้าย Martin เล่าให้ฟังในสารคดี Produced by George Martin ว่าระหว่างการทำอัลบั้มสุดท้ายด้วยกัน Lennon ทำตัวดีชนิด “…sweet as pie…” แสดงว่า John เองก็คงไม่อยากให้ต้องจากกันด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี ซึ่งก็น่าจะถือเป็น happy ending ในด้านความสัมพันธ์ของทั้งคู่


วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

Chaos and Creation at Abbey Road: คอนเสิร์ตที่บอกเล่ากระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของ The Beatles




ต้องขอโทษสมาชิกด้วยครับที่ห่างหายไปนานเนื่องจากติดภารกิจส่วนตัวบวกกับเป็นช่วงจำศีลทำให้อยากอยู่เงียบๆคนเดียวสักพักครับ

วันนี้ขอกลับมาด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับคอนเสิร์ตในบรรยากาศส่วนตัวแบบเป็นกันเองของ Paul McCartney ภายใน Studio 2 ซึ่งเป็นสตูดิโอที่ใช้อัดเสียงเพลงส่วนใหญ่ของ The Beatles คอนเสิร์ตนี้จัดขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับบรรดามิตรสหายและแฟนเพลงกลุ่มเล็กๆของ Paul McCartney เพื่อโปรโมทอัลบั้ม Chaos and Creation in the Backyard ของ Paul ที่ออกมาในปี 2005 เคยนำออกฉายทางสถานี BBC Two ในอังกฤษ และ PBS ในอเมริกา 

แม้ว่าเทคโนโลยีที่แสดงจะล้าสมัยไปแล้วเพราะเป็นเทคโนโลยียุค analog ที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆยุค digital แต่ในตอนที่ The Beatles เริ่มนำกระบวนการที่ Paul สาธิตให้ดูในคอนเสิร์ตนี้ต้องถือว่าเป็น state of the art ในยุคนั้น







Highlights ที่น่าสนใจของคอนเสิร์ตนี้ ได้แก่

- สาธิตการอัดเทป 4-track ที่ใช้ในอัลบั้ม Sgt. Pepper แต่เทคโนโลยีนี้ The Beatles เริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกในซิงเกิล I Want to Hold Your Hand สองอัลบั้มแรกของ The Beatles (Please Please Me, With the Beatles) ยังคงใช้การอัดแบบ 2-track

Abbey Road Studios ของ EMI ต้นสังกัดของ The Beatles ค่อนข้างช้าในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ โดยเห็นได้จากการอัดในระบบ 8-track ที่มีมาตั้งแต่ปี 1968 แต่ EMI ก็ยังไม่ได้นำมาใช้ในสตูดิโอ ทำให้หลายเพลงของ The Beatles ต้องไปอัดในสตูดิโออื่นที่ upgrade แล้วเพราะทางวงต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในผลงานของตน Abbey Road อัลบั้มที่อัดเสียงเป็นอัลบั้มสุดท้าย (แต่ออกมาก่อน Let It Be รายละเอียดเรื่องนี้อยู่ในบทความ "การแยกวง ตอนที่ 1") เป็นอัลบั้มเดียวที่ใช้การอัดด้วยระบบที่ใช้ transistor เริ่มต้นการเข้าสู่ยุค digital

- double bass ที่ Elvis ใช้ในการเล่นและอัดเสียงตอนที่ Elvis เริ่มเข้าวงการ สังเกตว่า Paul ร้องเพลงเลียนแบบเสียงของ Elvis ด้วยเสียงทุ้มต่ำที่ปกติเขาจะไม่ค่อยใช้ในเพลงของ The Beatles ตามทฤษฎีเสียงแล้ว ระดับเสียงของ Paul อยู่ในช่วงเสียงที่เรียกว่า baritenor ที่คาบเกี่ยวระหว่าง baritone และ tenor คือเป็นช่วงที่กว้างมาก เสียงของเขาสามารถจะลงต่ำและขึ้นสูงได้มากกว่าคนทั่วไป

- สาธิตวิธีเล่น mellotron ต้นแบบของ synthesizer โดยใช้บรรเลงในเพลง Strawberry Fields Forever ในช่วงต้นของเพลง ต้องให้เครดิตกับ The Beatles ที่ทำให้เครื่องดนตรีประเภท synthesizer ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา

John และ Paul กำลังง่วนอยู่กับ mellotron



- ที่มาของ bass line เพลง Blackbird ตามคำอธิบายของ Paul ในคลิปนี้ เขาแค่บอกว่าเขาแต่งเพลงนี้โดยได้รับอิทธิพลจากเพลงหนึ่งของ J. S. Bach ที่เขาและ George หัดเล่นตอนเป็นเด็กแต่บอกว่าจำชื่อบทเพลงนี้ไม่ได้ ผู้รู้ให้ข้อมูลว่าเพลงนี้น่าจะมาจากบทเพลง Bourree in E minor ของ Bach ยังมีรายละเอียดน่าสนใจเกี่ยวกับการแต่งเพลงนี้ที่ผมจะได้นำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ

- ขั้นตอนการอัดเสียงที่เริ่มตั้งแต่การตีกลองไปจนถึงเมโลดี้โดยใช้การเดินคอร์ดจากเพลง Blue Suede Shoes ของ Elvis ช่วงนี้เป็นช่วงที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็น entertainer ของ Paul ที่สร้างอารมณ์และการมีส่วนร่วมจากคนดูได้ดีจนทำให้เขายังคงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงจนทุกวันนี้