วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

ครบรอบ 50 ปี อัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band





ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีของอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles ซึ่งออกวางตลาดเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 1967 ในอังกฤษ และวันที่ 2 มิ.ย. 1967 ในอเมริกา เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 8 ของวงนี้ อะไรทำให้อัลบั้มนี้ถูกยกย่องให้เป็นร็อกอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลโดยนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ สาเหตุหลักน่าจะมาจากอิทธิพลของมันที่มีต่อวงการเพลงในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบ concept album ที่นำไปสู่ยุค album era ที่ศิลปินมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานแทนที่จะต้องถูกพันธนาการด้วยการมุ่งผลิตเพลงในรูปแบบของซิงเกิลที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการนำเสนอโดยมุ่งเน้นเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว การออกอัลบั้มส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการรวมเอาเพลงที่ออกเป็นแผ่นซิงเกิลมาแล้วเข้าด้วยกันแล้วเพิ่มเพลงที่มีคุณภาพด้อยกว่าเพียงเพื่อ“เติม” อัลบั้มให้เต็มเท่านั้น

The Beatles ไม่เห็นด้วยกับการทำแบบนี้เพราะมองว่าเป็นการเอาเปรียบแฟนเพลงที่ต้องเสียเงินซื้อเพลงเดียวกันถึงสองหน นี่ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สองเพลงที่ผลิตขึ้นมาก่อนหน้าและถูกนำไปทำเป็นซิงเกิล Strawberry Fields Forever / Penny Lane ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้ม Sgt. Pepper ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการทำอัลบั้มเพลงป็อปในสมัยนั้นเพราะมีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์วงการเพลงป็อปที่เราจะแยกได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือ“ยุคก่อน” และ “ยุคหลัง” อัลบั้ม Sgt.Pepper ถือเป็นเส้นแบ่งยุคที่เห็นได้อย่างชัดเจน

อัลบั้ม Sgt. Pepper ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของยุคฮิปปี้ที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมและต้องการมองหาสิ่งใหม่ๆให้กับสังคมเป็นยุคแห่งการแสวงหาและไม่ยอมรับคิดแบบเก่าๆหรือที่เรียกกันว่า counterculture มีเพลงซึ่งเนื้อหาถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่าง Lucy In The Sky With Diamonds (ซึ่งย่อได้เป็น LSD ยาเสพติดที่นิยมกันในหมู่ฮิปปี้ในยุคนั้น) หรือ With A Little Help From My Friend (ซึ่งมีท่อนหนึ่งที่บอกว่า “I get high” ซึ่งเป็นคำสแลงหมายถึงกำลังเมายา หรือ “take some tea” ซึ่งอาจจะหมายถึงการพี้กัญชา) หรือแม้แต่ปกอัลบั้มที่ออกแนว psychedelic ที่ฉีกแนวจากปกอัลบั้มป็อปทั่วไป (ความจริงแนวโน้มนี้เริ่มเห็นได้ตั้งแต่อัลบั้มก่อนหน้าคือ Revolver ซึ่งใช้ลายเส้นสีขาวดำ)

แต่หากมองในแง่เนื้อหาของหลายเพลงในอัลบั้มนี้แล้วเรากลับพบว่าเพลงส่วนใหญ่ยังมีเนื้อหาที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เช่น เพลง She’s Leaving Home และเพลง When I’m Sixty-Four ที่ยังมีมุมมองของคนรุ่นเก่าหรือแม้แต่เพลง Fixing Hole ก็เป็นการบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของการใช้ชีวิตของคนทั่วไป เนื้อหาเช่นนี้ดูจะไม่เหมาะกับอัลบั้มที่ออกมาในช่วง Summer of Love ปี 1967 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรมในยุคแห่งการแสวงหาของเหล่าบุปผาชน

สิ่งที่เป็นจุดเด่นอย่างแท้จริงของอัลบั้มนี้คือรูปแบบดนตรีที่แม้นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งจะบอกว่าเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ไม่ใช่เพลงที่เพราะและชวนจดจำมากเท่ากับอัลบั้มก่อนหน้าของ The Beatles ไม่ว่าจะเป็น Rubber Soul หรือ Revolver แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจารณ์เห็นพ้องกันคือความกล้าในการลองและผสมผสานรูปแบบดนตรีหลากหลายเช่น rock, jazz, blues, avant-garde เป็นต้น นับได้ว่าเป็นต้นแบบของ progressive rock ในเวลาต่อมา  มีการใช้เทคนิคการอัดเสียงใหม่ๆ เช่น การตัดต่อเทปให้เล่นวนหรือ loop tape การสร้างเอฟเฟกต์ด้วยการเล่นเทปกลับหลัง การผสมเสียงของเทปจากการอัดสองครั้งที่จังหวะและระดับความถี่เสียง (pitch) ที่แตกต่างกัน

เทคนิคต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ลูกเล่นเท่านั้น แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งเพลงเพราะเป็นการใช้เอฟเฟกต์เพื่อให้เกิดอิทธิพลต่ออารมณ์ของผู้ฟังที่สอดคล้องกับเนื้อหาของเพลง มีรูปแบบที่คล้ายกับการสร้างงานศิลปะแนว avant-garde ซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคนั้น โดยเฉพาะเทคนิคแบบ collage ที่สร้างงานศิลปะขึ้นใหม่จากการผสมผสานและดัดแปลงงานศิลปะแบบเก่าเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ Sgt. Pepper ยังเป็นอัลบั้มแรกที่ไม่มีช่องว่างระหว่างแต่ละแทร็ก เมื่อแทร็กหนึ่งจบจะต่อเนื่องไปเริ่มอีกแทร็กหนึ่งทันทีโดยไม่มีช่วงหยุดระหว่างเพลง ทำให้อารมณ์ในการฟังเพลงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่สะดุด John Lennon เคยคิดที่จะใช้เทคนิคนี้ในอัลบั้ม Revolver แต่ก็ไม่ได้ทำ

เพลงที่เป็น highlight ของอัลบั้มนี้คือเพลง A Day In The Life ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มต่อจากแทร็กเพลงซ้ำ Sgt. Pepper (Reprise) เพื่อให้สะท้อนถึงจุดจบของเรื่องราวในจินตนาการและการกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพลงนี้เป็นเพลงที่ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อน ประกอบด้วยท่อนหลัก 4 ท่อนและท่อน bridge ท่อนที่แปลกและค่อนข้าง abstract คือช่วงที่บรรเลงด้วยออร์เครสตราใช้เครื่องดนตรี 40 ชิ้นแบบให้อิสระกับนักดนตรีในการไล่โน้ตจากต่ำไปสูงซึ่งมีความยาวทั้งหมด 24 ห้องดนตรี สอดแทรกด้วยท่อนกลางที่ Paul เป็นคนแต่งและร้อง ส่วนที่เหลือของเพลงแต่งโดย John จากเรื่องราวที่เขาอ่านพบในหนังสือพิมพ์ เนื้อเพลงช่วงก่อนเข้าสู่การบรรเลงแบบอิสระของออร์เครสตรามีข้อความว่า “…I love to turn you on..” ซึ่ง BBC ในสมัยนั้นมองว่าหยาบคายเกินไปเพราะสื่อถึงเรื่องเพศ เป็นเหตุให้เพลงนี้ถูกแบนไม่ให้ออกอากาศ

เพลงจบลงด้วยคอร์ด E major ที่ดังอยู่เกือบหนึ่งนาทีเต็ม คอร์ดนี้เล่นด้วยเปียโน 3 หลังผสมด้วยเสียงของ harmonium (ออร์แกนโบราณชนิดหนึ่ง) และใช้เทคนิคในการอัดที่ช่วยให้ลากเสียงคอร์ดสุดท้ายออกไปนานถึงกว่า 40 วินาที

มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเพลงนี้ว่า ในตอนแรกเพลงปิดอัลบั้มควรจะเป็น Sgt. Pepper (Reprise) เพราะจะเป็นไปตาม concept ที่ให้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยวง Sgt.Pepper แต่เมื่อโปรดิวเซอร์ George Martin ได้ฟังคอร์ดสุดท้ายของเพลง A Day in the Life แล้วเขาคิดว่าเสียงทอดยาวของคอร์ดนี้ควรจะเป็นคอร์ดสุดท้ายของอัลบั้มนี้ ไม่มีอะไรจะมาแทนมันได้

แม้แต่ปกอัลบั้มนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย อย่างแรกที่มักพูดถึงกันคือการสื่อด้วยภาพของวงในจินตนาการ Sgt. Pepper ที่มีการแต่งกายรวมทั้งการไว้ทรงผมและหนวดเคราที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพลักษณ์ “mop tops” หรือ “สี่เต่าทอง” ที่มีสัญลักษณ์ปรากฏบนปกอัลบั้มด้วยหุ่นขี้ผึ้ง (จากพิพิธภัณฑ์ Madame Tussauds) ของสมาชิกทั้งสี่คนที่ถูกเบียดให้ไปยืนอยู่ด้านข้าง การไว้หนวดครึ้มและการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดสื่อถึงวัฒนธรรมฮิปปี้ที่กลายเป็นกระแสนิยมในยุคนั้น ภาพหมู่ของบุคคลสำคัญประกอบด้วยภาพถ่าย 57 ภาพและภาพหุ่นขี้ผึ้งอีก 9 ภาพ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญหลากหลายจากวงการต่างๆที่มีทั้งนักแสดง นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา กูรูลัทธิทางศาสนา นักเขียน นักร้องและนักแสดง ปกอัลบั้มนี้ได้รับรางวัล Grammy Award for Best Album Cover ในปี 1968  นอกจากนี้ ยังมีการนำเนื้อเพลงทุกเพลงมาพิมพ์ไว้บนปกหลังซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอัลบั้มเพลงร็อก

แม้ว่านักวิจารณ์บางส่วนจะบอกว่าคุณภาพโดยรวมของเพลงในอัลบั้มนี้อาจจะสู้อัลบั้มก่อนหน้าอย่าง Rubber Soul หรือ Revolver ไม่ได้ และลูกเล่นหลายอย่างในอัลบั้มนี้ The Beatles เคยลองมาแล้วในอัลบั้ม Rubber Soul และ Revolver แต่ในแง่ของความสำคัญทางประวัติศาสตร์วงการเพลงและด้านวัฒนธรรมคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความยิ่งใหญ่ของอัลบั้มนี้ ทั้งในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำ concept album (แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบ) และความกล้าในการลองรูปแบบดนตรีใหม่ๆตลอดจนเทคนิคการอัดเสียงที่ต้องถือว่าเป็น state of the art ในยุคนั้น

ในแง่ของการแต่งเพลงที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในอัลบั้มนี้ เห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ Rubber Soul โดยเฉพาะการเล่นคำในลักษณะบทกวีในเพลงอย่าง Norwegian Wood หรือ In My Life แต่ในแง่ของการทดลองใช้เสียงดนตรีและเทคนิคการอัดเสียงที่ท้าทายมาเริ่มอย่างจริงจังในอัลบั้ม Revolver ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ซึ่งปรากฏให้เห็นในสองอัลบั้มนี้ มาผสมผสานกันอย่างลงตัวในอัลบั้ม Sgt. Pepper

ไม่น่าเชื่อว่า Geoff Emerick วิศวกรเสียงมือใหม่ที่เริ่มทำงานในอัลบั้ม Revolver ตอนนั้นอายุแค่ 19 แต่ก็อาจจะเพราะความเยาว์วัยก็ได้ที่ทำให้กล้าลองของใหม่ๆ ยิ่งได้รับการกระตุ้นจาก The Beatles ที่คะยั้นคะยอให้ Geoff ทดลองทำเสียงกระตุ้นโสตประสาทในบรรยากาศภายใต้การเสพยาของสมาชิกวงซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องนี้ในยุคแห่งการแสวงหาของพวกฮิปปี้ในช่วงนั้น

Geoff บอกว่าสมาชิกวงบอกเขาตอนเริ่มทำอัลบั้มนี้ว่า พวกเขาต้องการให้เสียงของดนตรีแต่ละชิ้นที่ออกมาฟังไม่เหมือนกับเสียงตามธรรมชาติของมัน พูดง่ายๆคือพวกเขาต้องการให้เสียงที่ได้จากเทคนิคที่ใช้ในสตูดิโอเป็นองค์ประกอบสำคัญของเพลงนั้นๆด้วย

สิ่งที่น่าจะทำให้อัลบั้ม Sgt. Pepper ดู “ขลัง” กว่าในสายตาของคนทั่วไปเป็นเพราะเทคนิคในการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นการแปลงโฉม The Beatles เป็นวงในจินตนาการ Sgt. Pepper การสร้างกระแสด้วยการปิดตัวทำอัลบั้มนี้นานถึง 5 เดือน ในขณะที่ Revolver ใช้เวลาเพียง 2 เดือนครึ่ง

อีกเหตุผลหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ได้ให้การต้อนรับ Revolver ดีนักตอนที่ออกมาอาจจะมาจากคำพูดที่ไม่ระวังปากของ John ที่บอกว่า “…We’re more popular than Jesus now…” ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักในอเมริกา

โดยสรุปก็คือ หากมองในแง่พัฒนาการด้านดนตรี Revolver น่าจะถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในทิศทางการทำดนตรีของ The Beatles แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดนตรี  Sgt. Pepper ช่วยยกระดับความเป็นศิลปะของดนตรีร็อกในสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกอย่างแท้จริง



วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

Yesterday และ Georgia on My Mind: ความเหมือนที่แตกต่าง



เมื่อวันก่อน ผมได้เกริ่นไปนิดหนึ่งในบทความ “The Long and Winding Road: หนทางวิบากก่อนการแยกวง” ว่าเพลงนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากสไตล์เพลงของ Ray Charles ศิลปินที่ผสมผสานแนวเพลง soul, R&B และ jazz ซึ่งมีผลงานเป็นที่รู้จักกันดีมากมาย เช่น What I'd Say, Hit the Road Jack, Unchain My Heart, I Can't Stop Loving You, You Don't Know Me และ Georgia on My Mind ที่จะพูดถึงต่อไป

นอกจากเพลง The Long and Winding Road ที่ Paul McCartney บอกว่าเขาแต่งเพลงนี้โดยนึกถึงแนวเพลงของ Ray Charles ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีหลายคนเชื่อว่าเพลง Yesterday ซึ่งเป็นเพลงเอกของ Paul McCartney ก็น่าจะได้รับอิทธิพลจากเพลง Georgia on My Mind ของ Ray Charles

ถ้าใช้การฟังเพียงอย่างเดียว คงจะบอกได้ยากว่าทั้งสองเพลงมีความเหมือนกันตรงไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีชี้ว่าการเดินคอร์ดของทั้งสองเพลงใกล้เคียงกันมาก หากเปรียบเทียบการเดินคอร์ดกันดูตามรูปข้างล่างจะเห็นได้ว่า จากจำนวนการเดินคอร์ดต่อเนื่องกัน 12 คอร์ด มีเพียงคอร์ดเดียวเท่านั้นที่แตกต่างกัน





ท่านใดสนใจเชิญอ่านรายละเอียดการวิเคราะห์ของ Aaron Krerowicz ตามลิงข้างล่างนี้ครับ


คงเป็นไปได้มากว่า Paul คงเคยได้ยินเพลง Georgia on My Mind ของ Ray Charles มาก่อนและได้รับอิทธิพลผ่านทางจิตใต้สำนึก เนื่องจาก ตามคำให้สัมภาษณ์ของ Paul ทำนองเพลง Yesterday ผุดขึ้นมาในสมองในขณะที่เขากำลังหลับ ทำให้เขาต้องรีบลุกขึ้นมาเล่นเปียโนที่อยู่ข้างเตียงตามทำนองที่ผ่านเข้ามาในช่วงที่หลับอยู่ ในระหว่างที่เขายังคิดเนื้อร้องอย่างเป็นทางการไม่ได้ เขาแต่งเนื้อร้องแบบสนุกๆเพื่อให้สอดคล้องกับทำนองเพลงไปก่อนและตั้งชื่อเล่นให้กับเพลงในความฝันนี้ว่า Scrambled Egg

Paul เองก็กลัวว่าเขาอาจจะไปจำเพลงของคนอื่นไว้ใต้จิตสำนึก ทำให้เกิดการลอกเลียนโดยไม่เจตนา ถึงกับลงทุนลองเล่นเพลงนี้ให้คนใกล้ชิดฟังหลายคนและถามความเห็นว่ามีเพลงที่มีทำนองคล้ายๆกันไหม แต่ทุกคนที่ได้ยิน ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน

อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงอิทธิพลของ Ray Charles ที่มีต่อ Paul นอกจากการแต่งเพลง The Long and Winding Road แล้ว คือการที่เนื้อเพลง Back to the USSR มีเนื้อท่อนหนึ่งที่ว่า

“…Well the Ukraine girls really knock me out
They leave the West behind
And Moscow girls make me sing and shout
That Georgia's always on my mind…”

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นแค่การคาดเดานะครับ เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะพิสูจน์กันง่ายๆว่าจะมีการลอกเลียนกันแบบไม่ตั้งใจหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองเพลง ฟังยังไงก็ไม่เหมือนกันและมีเอกลักษณ์ด้วยกันทั้งคู่ จึงอาจจะเป็นแค่เหตุบังเอิญเท่านั้นครับ

ขอให้ข้อมูลเพิ่มอีกนิดครับ เพลง Georgia on My Mind แต่งโดย Hoagy Carmichael และ Stuart Gorrell และอัดไว้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1930 Ray Charles นำมา cover จนโด่งดังในอัลบั้ม The Genius Hits the Road ปี 1960 ส่วนเพลง Yesterday อยู่ในอัลบั้ม Help! ของ The Beatles ซึ่งออกมาในปี 1965




วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

The Long and Winding Road: หนทางวิบากก่อนการแยกวง




หากจะมีสักเพลงหนึ่งของ The Beatles ที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่เริ่มย่ำแย่ลงของสมาชิกจนต้องแยกวงกันไปในที่สุด เพลงนั้นก็น่าจะเป็นเพลง The Long and Winding Road ที่มีความเป็นมาตั้งแต่การแต่งเพลงไปจนถึงการอัดเสียงในช่วงที่เกิดปัญหาสารพัดขึ้นภายในวง

ในด้านการแต่ง Paul เริ่มแต่งเพลงนี้ตอนที่เขาอยู่ที่ Scotland ในปี 1968 ช่วงที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในวงเริ่มจะแย่ลงเรื่อยๆ มีการอัด demo tape เพลงนี้ระหว่างการทำอัลบั้ม The Beatles (White Album) แต่ก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ได้ทำต่อจนเสร็จ

Paul แต่งเพลงนี้โดยนึกถึงสไตล์เพลงของ Ray Charles แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่มีอะไรเหมือนเพลงของ Ray Charles เลย แต่อิทธิพลของเขาที่ Paul พูดถึงก็ปรากฏในโครงสร้างการเดินคอร์ดที่มีลักษณะคล้ายเพลงแจ๊สมากกว่าเพลงป็อปโดยทั่วไป นอกจากเพลงนี้แล้ว อิทธิพลของ Ray Charles ต่อการแต่งเพลงของ Paul ยังปรากฏในเพลงเอกของเขาคือ Yesterday ซึ่งผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ



บรรยากาศเครียดๆระหว่างการถ่ายทำสารคดี Get Back (Let It Be)



Paul บอกว่าเขาชอบแต่งเพลงเศร้าเพราะมันเหมือนการได้ระบายความในใจบางอย่างออกมา เป็นการระบายความเครียดในลักษณะหนึ่งโดยไม่ต้องพึ่งจิตแพทย์ มีความเป็นไปได้ที่เพลงนี้สะท้อนถึงจิตใต้สำนึกของ Paul ที่กำลังต้องเผชิญกับปัญหาความสัมพันธ์ที่เลวร้ายภายในวงช่วงนั้น เนื้อเพลงพูดถึงสิ่งที่พยายามไขว่คว้าแต่ไม่มีทางได้มา เป็นหนทางที่หาจุดจบไม่ได้ แม้แต่ John ก็ยอมรับว่า ตอนก่อนจะแยกวงเป็นช่วงที่ดูเหมือน Paul จะ creative มากไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลงนี้หรือเพลง Let It Be

The Beatles ซ้อมเพลงนี้อยู่หลายครั้งระหว่างการอัดเทปภาพยนตร์สารคดีพิเศษเรื่อง Get Back (ที่กลายมาเป็นอัลบั้ม Let It Be ในภายหลัง) ใน Twickenham Film Studios ซึ่งเป็นความคิดของ Paul ที่ต้องการจะหวนกลับไปหารากเหง้าของวงที่เน้นการแสดงคอนเสิร์ต โดยความคิดที่จะให้ซ้อมเพลงกันก่อนที่จะแสดงจริง และมีกล้องคอยเก็บภาพบรรยากาศในการซ้อมเพลงเพื่อใช้ประกอบสารคดีดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าจะมี Paul เพียงคนเดียวที่กระตือรือร้นในเรื่องนี้ สมาชิกคนอื่นไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยโดยเฉพาะ John และ George เพราะเบื่อที่ต้องมาซ้อมเพลงกันเหมือนสมัยก่อน

ในช่วงนั้น John ติดเฮโรอีนอย่างหนักและไม่ยอมห่าง Yoko Ono ที่อยู่ข้างกายตลอด George ทนไม่ได้ถึงขนาดเดินหนีออกจากสตูดิโอไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 1969 จนทำให้ต้องล้มเลิกการทำสารคดีเรื่องนี้ George ยื่นคำขาดว่าถ้าจะให้กลับมาร่วมกับวงต่อ จะต้องย้ายไปอัดเพลงกันที่ สนญ. Apple Records ที่ Savile Row ในลอนดอนแทน พวกเขาย้ายกลับมาลอนดอนในวันที่ 21 ม.ค. และล้มเลิกความคิดที่จะจัดคอนเสิร์ต






ด้วยความคุ้นเคยกับเพลงนี้และได้ซ้อมกันมาหลายครั้ง เมื่อย้ายกลับมาที่สตูดิโอ Apple Records พวกเขาจึงสามารถเริ่มอัดเพลงนี้ได้เลยในวันที่ 26 ม.ค. และอัดอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. หลังจากการแสดง Rooftop Concert ในวันก่อน Glyn Johns โปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม Get Back (ที่ล้มเลิกไปและเปลี่ยนมาเป็นอัลบั้ม Let It Be แทน) เลือกเวอร์ชันของวันที่ 26 ม.ค. มาใช้

เมื่อ Phil Spector ได้รับมอบหมายจาก Allen Klein ให้หน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้ม Let It Be ในเดือน เม.ย. 1970 (Allenได้รับความเห็นชอบจาก John, George และ Ringo ให้เป็นผู้จัดการวงคนใหม่ แต่ Paul ไม่เห็นด้วย อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในบทความ “ประวัติของวง ตอนที่ 4”) เขาเพิ่มการบรรเลงเครื่องสายและ chorus จากคณะนักร้องประสานเสียงเข้าไปด้วย


Phil Spector

Phil อ้างว่าที่เขาต้อง overdub แบบนี้เพราะต้นฉบับเดิมที่นำมาทำอัลบั้ม Let It Be มีปัญหาการเล่นเบสที่ผิดพลาดมากของ John Lennon (ตามความเห็นของ Ian MacDonald ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง The Beatles ในหนังสือ Revolution in the Head) เขาตั้งข้อสังเกตว่าการเล่นเบสของ John ในเพลงนี้ต่ำกว่ามาตรฐานมาก และเล่นผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อจนดูเหมือนกับจะเป็นการจงใจ  อย่าลืมว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง John และ Paul กำลังถึงจุดต่ำสุดในช่วงนั้น (ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งอาจจะเกิดจากฤทธิ์ยาเสพติดก็ได้ เพราะช่วงนั้น John ติดเฮโรอีนอย่างหนัก) แต่ Paul ก็โต้ว่า ความจริงสิ่งที่ Phil ควรจะทำมากกว่าคือการตัดเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาออกไป แล้วทำการอัดใหม่ เหมือนกับที่ทำกับเพลง Let It Be

ในตอนนั้น Paul ไม่ทราบเรื่องการ overdub โดย Phil มาก่อน เมื่อเขาได้ยินเวอร์ชันนี้ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะ concept เดิมของอัลบั้ม Get Back (Let It Be) คือการกลับไปหาความเรียบง่ายเหมือนในยุคแรกของวง เขาต้องการให้เพลงนี้เป็นเพลง ballad ง่ายๆที่มีแค่เสียงร้องคลอด้วยเครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้น

Paul โกรธจัดขนาดเขียนจดหมายเปิดผนึกต่อว่า Allen Klein ลองอ่านจดหมายนี้ดูครับ

Dear Sir,

In the future, no one will be allowed to add to or subtract from a recording of any of my songs without my permission.

I had considered orchestrating "The Long and Winding Road," but I had decided against it. I therefore want it altered to these specifications:

1. Strings, horns, voices and all added noises to be reduced in volume.
2. Vocal and Beatles instrumentation to be brought up in volume.
3. Harp to be removed completely at the end of the song and original piano notes to be substituted.
4. Don't ever do it again.

Signed,

Paul McCartney

c.c. Phil Spector
     John Eastman

[ในอนาคต ห้ามผู้ใดดัดแปลงเทปการบันทึกเสียงเพลงของผมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผมเคยคิดที่จะใช้การบรรเลงด้วยวงออร์เครสตราเป็นแบ็คอัพในเพลง “The Long and Winding Road” มาแล้ว แต่ก็ตัดสินใจไม่ทำ ดังนั้น ผมต้องการให้ดำเนินการแก้ไขดังนี้

1. ลดความดังของเสียงที่เพิ่มเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องสาย เครื่องเป่า เสียงร้อง และเสียงเพิ่มอื่นๆ
2. เพิ่มความดังของเสียงร้องและการเล่นดนตรีของ The Beatles
3. เอาเสียงพิณในตอนท้ายของเพลงออกทั้งหมด และให้ใส่เสียงการเล่นเปียโนตามต้นฉบับเดิมกลับเข้ามา
4. อย่าทำแบบนี้อีกเป็นอันขาด]

เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นหนึ่งที่ Paul ยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุผลทางกฎหมายในการขอยกเลิก Beatles partnership (Beatles & Co.) ซึ่งก็เปรียบได้กับการขอแยกวง (ดูรายละเอียดอื่นๆของคดีฟ้องร้องระหว่าง Paul และสมาชิก The Beatles คนอื่นได้ในบทความ “การแยกวง ตอนที่ 2”)





หลังจาก John ตาย Paul เอาอัลบั้ม Let It Be มา remix ใหม่เป็น “Let It Be…Naked” ซึ่งออกวางตลาดในปี 2003 และมีเวอร์ชั่นของเพลง The Long and Winding Road ที่เป็นไปตาม concept เดิมของ Paul เวอร์ชันนี้ใช้ต้นฉบับเทปที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 1969

ส่วนเวอร์ชันที่อัดไว้แรกสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 1969 ถูกนำไปรวมอยู่ในอัลบั้ม Anthology 3 ซึ่งออกมาในปี 1996 ในเวอร์ชันนี้จะมีท่อนแยกที่ Paul ใช้วิธีพูดแทนการร้อง

นอกจากนี้ ก็ยังมีอีก 3 เวอร์ชันของเพลงนี้ที่ทำออกมาโดย Paul McCartney หลังแยกตัวเป็นศิลปินเดี่ยวแล้ว จึงจะไม่ขอพูดถึงในที่นี้


วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

เฉลย Daily Quiz #8




นี่เป็นภาพเขียนที่สมาชิก The Beatles ช่วยกันวาดตอนที่หมกตัวอยู่ในโรงแรม Tokyo Hilton ตลอดช่วงเวลาที่วงไปแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกและครั้งเดียวในญี่ปุ่นที่สนามกีฬามวยปล้ำซูโม่บุโดกังโดยแสดงทั้งหมด 3 รอบ เนื่องจากความคลั่งไคล้ของแฟนเพลง ทำให้ตำรวจห้ามไม่ให้ The Beatles ออกไปปรากฏตัวภายนอกเพื่อความปลอดภัย นี่เป็นเหตุการณ์ปกติช่วง Beatlemania และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้วงตัดสินใจเลิกออกทัวร์ในเวลาต่อมา

ระหว่างที่อยู่ในโรงแรม เพื่อไม่ให้สมาชิกวงเบื่อช่วงพักระหว่างการแสดงแต่ออกไปไหนไม่ได้ ผู้จัดการวง Brian Epstein จัดหาอุปกรณ์การวาดภาพมาให้สมาชิกทั้ง 4 คนช่วยกันวาดภาพเขียนนี้ขึ้นมา โดยใช้เวลาระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. ถึง 2 ก.ค. 1966




โต๊ะที่ใช้ในการวาดภาพ วงกลมที่มีลายเซ็นตรงกลางคือจุดที่วางโคมไฟ

  ภาพเขียนนี้มีชื่อว่า “Images of a Woman” ตรงกลางภาพจะเป็นวงกลมสีขาว (ที่ทั้งสี่คนเซ็นชื่อ) เพราะเป็นจุดที่วางโคมไฟบนผืนผ้าใบ ทั้งสี่คนแบ่งกันวาดคนละมุม


พอจบการแสดงและได้เวลากลับ The Beatles มอบภาพเขียนให้กับนักธุรกิจวงการบันเทิงญี่ปุ่นที่เป็นประธานสมาคม Beatles fan club ของญี่ปุ่น เมื่อเขาตาย ภรรยาของเขาเปิดร้านขายของที่ระลึก The Beatles และประมูลขายภาพเขียนนี้ไปในปี 1989 ผู้ที่ประมูลได้คือ Takao Nishino เจ้าของร้านขายแผ่นเสียง ซึ่งแขวนโชว์ในห้องนั่งเล่นก่อนจะเอาภาพเขียนใส่กล่องไปเก็บไว้ใต้เตียงเพราะห่วงเรื่องความชื้นของอากาศที่มีผลต่อผ้าใบ แต่ก็ตัดสินใจประมูลขายภาพไปในปี 2012 เชื่อว่าน่าจะได้ราคาถึงประมาณ USD 500,000 (ในตอนนั้น)


วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560

Daily Quiz #8




อยากทราบว่าภาพเขียนที่มีลายเซ็นของสมาชิก The Beatles ทั้ง 4 คนนี้มีที่มาเป็นอย่างไรครับ?



วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Lennon-McCartney คู่นักแต่งเพลง หยิน-หยาง ของวง The Beatles




สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เวลาพูดถึง The Beatles คือมนต์เสน่ห์ของเพลงที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง John Lennon และ Paul McCartney แม้ว่าหลังจากแยกวงกันแล้ว ทั้งคู่จะยังสามารถผลิตผลงานเพลงเดี่ยวคุณภาพดีออกมาได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่อาจเทียบได้กับผลงานตอนที่ยังเป็น The Beatles เราลองมาดูกันครับว่าอะไรคือที่มาของความพิเศษซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของทั้งคู่

ในแง่ของการแต่งทำนองเพลง John จะมีสไตล์ที่ค่อนข้างราบเรียบ ไม่มีการเปลี่ยนระดับเสียง (pitch) มากเหมือนกับ Paul จนบางคนบอกว่าบางครั้งฟังเหมือนกำลังบ่นๆอยู่ ส่วนหนึ่ง อาจจะมาจากการที่ John ให้ความสำคัญกับเนื้อร้องมากเป็นพิเศษ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องการให้เนื้อเพลงของเขาเป็นเหมือนบทกวีที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของ John ที่รักการแต่งโคลงกลอนมาตั้งแต่ยังเด็ก ดังจะเห็นได้จากเพลง Strawberry Fields Forever, In My Life, Across the Universe, Norwegian Wood, I Am the Walrus

ต่างกับ Paul ที่มีพรสวรรค์ด้านการคิดทำนองเพลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเมโลดี้ของ Paul เป็นไปตามทฤษฎีดนตรีมากกว่า คือจะมีการเรียบเรียงเสียงประสาน (harmonization) ที่เป็นไปตามหลักการทางดนตรี ทำให้ทำนองที่ออกมาฟังรื่นหูและติดหูง่ายกว่า ตัวอย่างเช่นเพลง Here, There and Everywhere, The Long and Winding Road, Eleanor Rigby, The Fool on the Hill, Penny Lane

สำหรับด้านเนื้อร้อง John มักจะเล่าเรื่องราวจากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่เขาต้องการสื่อจากประสบการณ์ชีวิตหรือความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง กามารมณ์ และการเรียกร้องสันติภาพ เขาชอบการเล่นคำและสำบัดสำนวน ชอบใช้คำพูดเสียดสีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน

ส่วน Paul ชอบแต่งเพลงจากมุมมองบุคคลที่สามโดยมักเป็นเรื่องรักๆใคร่ๆ จากจินตนาการเป็นส่วนใหญ่ เพลงของ Paul มักเป็นเพลงที่มองโลกในแง่ดี เขาชอบให้เพลงมีดราม่าและสร้างอารมณ์ให้กับผู้ฟัง ในขณะที่เพลงของ John จะทีเล่นทีจริงและใช้อารมณ์ขันในเชิงเสียดสี




ในด้านบุคลิกภาพแล้ว ทั้งคู่มีลักษณะที่ตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ Paul มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เขามักจะพกสมุดบันทึกติดตัวเพื่อคอยจดเนื้อร้องหรือการเดินคอร์ด (chord changes) ที่นึกขึ้นได้ ผิดกับ John ที่ดูสับสนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เขาเป็นประเภทที่ต้องคอยขอกระดาษและปากกาเพื่อจดไอเดียที่ผุดขึ้นมาในสมอง

Paul พูดจาสุภาพเหมือนนักการทูตและเป็นคนที่มีทักษะในการสื่อความที่ดี ส่วน John พูดจาไม่ค่อยระวังปากและบางทีก็ดูหยาบคายกับคู่สนทนา Paul เป็นคนใจเย็นที่มีความอดทน เขาจะรู้เสมอว่าตัวเองต้องการอะไรและพร้อมที่จะทุ่มเทเวลาให้กับมัน เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบฟังคำติเตียน ตรงกันข้ามกับ John ที่ไม่ค่อยมีความอดทนและเบื่อง่าย มักจะต้องการทำอะไรใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์และยินดีรับฟังความเห็นที่แตกต่าง

คงไม่ผิดนัก ถ้าจะต้องบอกว่าทั้งคู่เติมเต็มในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งขาด John ขาดวิธีคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความอดทนแบบ Paul ในขณะที่ Paul ได้ประโยชน์จากอารมณ์วูบวาบแบบศิลปินและวิธีคิดนอกกรอบของ John

มีนักวิจารณ์บางคนเรียกความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ของทั้งคู่ว่า “co-opetition” หรือการแข่งขันที่นำไปสู่ผลงานสร้างสรรค์ เมื่อฝ่ายหนึ่งคิดไอเดียหรือทำผลงานออกมาชิ้นหนึ่ง อีกฝ่ายจะถูกกระตุ้นให้พยายามแข่งขันเพื่อสร้างผลงานของตัวเองออกมาบ้าง ตัวอย่างในเรื่องนี้จะเห็นได้จากตอนที่ John แต่งเพลง Strawberry Fields Forever เพื่อเล่าถึงเรื่องราวในอดีตของตัวเองในเมือง Liverpool กระตุ้นให้ Paul แต่งเพลงในทำนองเดียวกันคือ Penny Lane ออกมาบ้าง หรือตัวอย่างการแต่งเนื้อร้องเพลง Lucy in the Sky with Diamonds ด้วยการเล่นคำเพื่อบรรยายภาพในจินตนาการ เมื่อ Paul เริ่มด้วยคำว่า cellophane flowers และ newspaper taxis John ก็ไม่ยอมน้อยหน้าด้วยการคิดคำว่า kaleidoscope eyes  ขึ้นมาบ้าง Paul บอกว่าเขาทั้งสองมักจะแข่งกันแลกเปลี่ยนไอเดียเกี่ยวกับเนื้อร้องในลักษณะนี้อยู่ตลอดเวลา หรือแม้แต่การผสมผสานเพลงที่ต่างคนต่างแต่งเข้าด้วยกัน เช่นในเพลง A Day in the Life ซึ่งท่อนแยกในส่วนที่ Paul เป็นคนร้อง ท่อนที่เริ่มว่า “…Woke up, fell out of bed…” ความจริงเป็นอีกเพลงที่ Paul แต่งไว้ก่อนแล้ว แต่ก็สามารถนำมาผสมผสานเข้าในเพลงที่ John แต่งได้อย่างลงตัว




George Martin โปรดิวเซอร์ทุกสตูดิโออัลบั้มของ The Beatles ยกเว้น Let It Be เคยตั้งข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่เทียบได้กับนักกีฬาในทีมชักเย่อที่ช่วยกันดึงเชือก ความตึงของเชือกระหว่างทั้งคู่เป็นสิ่งที่สร้างความแน่นแฟ้นให้กับความสัมพันธ์นี้ การที่ทั้งคู่เริ่มต้นมาจาการต้องร่วมเล่นดนตรีและร้องเพลงในคลับแบบทรหดในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งวงน่าจะเป็นที่มาสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ หรือพูดง่ายๆคือทั้งคู่รู้ใจกันดีจากการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกันมาในอดีต

จากการผสมผสานกันอย่างลงตัวของความแตกต่างกันของทั้งคู่นี้เองที่เพิ่มมนต์เสน่ห์ให้กับผลงานร่วม Lennon-McCartney ดังความเห็นของ John ในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร Playboy เมื่อปี 1980 ที่ว่า  "He provided a lightness, an optimism, while I would always go for the sadness, the discords, the bluesy notes…” (เขานำเสนอด้านสว่าง การมองโลกในแง่ดี ในขณะที่ผมชอบที่จะพูดถึงความเศร้า ความขัดแย้ง ใช้ตัวโน้ตแนวดนตรี blues…)

เมื่อคำรมคมคายและทัศนคติแดกดันของ John ที่แสดงออกมาในทางดนตรีผสมผสานเข้ากับความละมุนละไมและทำนองเสนาะหูของ Paul สิ่งที่ได้ก็คือผลงานการประพันธ์เพลงซึ่งคงเอกลักษณ์ที่ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงแม้จะผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม



เฉลย Daily Quiz #7




คำตอบคือ The Long and Winding Road ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม Let It Be ที่ออกมาเป็นอัลบั้มสุดท้าย แต่อัดไว้ก่อนหน้าอัลบั้ม Abbey Road เป็นซิงเกิลที่ 20 และซิงเกิลสุดท้ายที่ขึ้นถึงอันดับหนึ่งในอเมริกา

Paul ที่ปกติเป็นมือเบส เปลี่ยนเป็นเล่นเปียโนและร้องนำ เพลงนี้น่าจะเป็นบทเพลงที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความขัดแย้งกันภายในวงก่อนที่สมาชิกจะต้องแยกทางกันไปในที่สุด เนื่องจากมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับเพลงนี้มากมาย ผมคิดว่าจะเขียนบทความเกี่ยวกับเพลงนี้โดยเฉพาะในโอกาสต่อไป กรุณาติดตามด้วยครับ


วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Daily Quiz #7

เพลงไหนของ The Beatles เป็นเพลงเดียวที่ John Lennon เล่น bass guitar?


วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

The Fifth Beatle

ใครสมควรได้การขนานนามว่าเป็น The Fifth Beatle หรือสมาชิกคนที่ 5 ของวงนี้และมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของ The Beatles เท่าที่ผมได้สำรวจดูจากข้อเขียนของนักวิจารณ์ต่างๆ พอจะแบ่งพวกที่เข้าข่ายเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

อดีตสมาชิก

Stuart Sutcliffe เป็นมือเบสดั้งเดิมตอนที่วงมีสมาชิก 5 คน (John, Paul, Stuart และ Pete Best) ระหว่างที่เล่นอยู่ตามคลับในฮัมบูร์ก เยอรมนี หลังจากที่เขาเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดสมองแตก วงตัดสินใจไม่หาสมาชิกทดแทน แต่เปลี่ยน Paul ให้ไปเล่นเบสแทน


Stuart Sutcliffe (ขวาสุด)

Pete Best มือกลองที่เล่นให้วงทั้งในลิเวอร์พูลและฮัมบูร์ก แต่ภายหลังถูก Brian Epstein (ด้วยความเห็นชอบของสมาชิกคนอื่น) ไล่ออกจากวงเพราะมองว่าฝีมือไม่ดีพอที่จะอัดแผ่นเสียงเชิงพาณิชย์ได้


Pete Best (มือกลอง)

กลุ่มผู้จัดการ โปรดิวเซอร์ หรือบริหารวงในด้านต่างๆ

Brian Epstein ต้องถือว่าเป็นผู้ที่ค้นพบ The Beatles และเป็นผู้จัดการวงในช่วงปี 1961-1967 Brian จะดูแลเฉพาะด้านธุรกิจและประชาสัมพันธ์ ให้อิสระกับวงอย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน การตายของเขาในปี 1967 ทำให้วงขาดจุดยึดเหนี่ยวร่วมกันและนำไปสู่การแตกวงในที่สุด Paul เคยให้สัมภาษณ์ BBC ว่า "If anyone was the fifth Beatle, it was Brian Epstein."

Brian Epstein
George Martin เป็นโปรดิวเซอร์เกือบทุกอัลบั้มของ The Beatles ยกเว้น Let It Be และเพลงที่ออกมาหลังการตายของ John นอกจากนี้ เขายังแต่งเพลงประกอบหนัง Yellow Submarine และเรียบเรียงเสียงประสานเครื่องสายและเครื่องเป่าในหลายๆเพลง โดยเฉพาะการบรรเลง string octet (เครื่องสาย 8 ชิ้น) ของเพลง Eleanor Rigby ความเชี่ยวชาญและความเข้าใจด้านดนตรีอย่างลึกซึ้งของ Martin ประกอบกับการเข้าถึงดนตรีในแนวที่ The Beatles เล่น ตลอดจนคำแนะนำต่างๆที่เขาให้กับวงในช่วงแรกๆน่าจะมีส่วนสำคัญในการวางพื้นฐานการพัฒนาด้านดนตรีของวง โดยเฉพาะของ John และ Paul ในเวลาต่อมา



George Martin
Neil Aspinall ผู้จัดการทั่วไปของวง เป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกับ Paul, George และ Pete Best ทำหน้าที่สารพัดแม้แต่ขับรถให้กับวง ค่อยๆไต่เต้าขึ้นมาจนกลายเป็น CEO ของ Apple Corps ในที่สุด


Neil Aspinall
Derek Taylor เป็นประชาสัมพันธ์ของวงและ ผจก. ส่วนตัวของ Brian Epstein  George Harrison เคยบอกว่าทั้ง Neil และ Derek สมควรจะถูกเรียกว่าเป็น The Fifth Beatles ทั้งคู่


Derek Taylor

กลุ่มนักดนตรีที่เคยร่วมงานกับ The Beatles

Tony Sheridan เป็นนักร้องนักดนตรีที่ The Beatles สมัยยังใช้ชื่อว่า The Beat Brothers เคยเล่นเป็นแบ็คอัพให้


Tony Sheridan
Billy Preston เล่นคีย์บอร์ดในอัลบั้ม Let It Be เขาเป็นเพียงหนึ่งใน 2 นักดนตรีที่ได้เครดิตมีชื่อลงบนปกอัลบั้มของ The Beatles อีกคนคือ Tony Sheridan แต่นั่นเป็นช่วงก่อนหน้าที่ The Beatles จะเริ่มดัง


Billy Preston ระหว่างการอัดอัลบั้ม Let It Be (Get Back)
Jimmie Nicol มือกลองที่เคยเล่นแทน Ringo อยู่ 13 วันขณะที่ป่วย


Jimmie Nicol มือกลองสำรอง
Eric Clapton เพื่อนสนิท ของ George Harrison ที่เขาชวนให้มาเล่นกีตาร์โซโลในเพลง While My Guitar Gently Weeps อัลบั้ม The Beatles (หรือ White Album)  Clapton เป็นนักดนตรีคนเดียวที่เคยเล่นในอัลบั้มเดี่ยวหลังแยกวงของสมาชิก The Beatles ครบทุกคน


Eric Clapton (ซ้ายสุด) ระหว่างแจมเพลง Yer Blues กับ John Lennon, Keith Richards และ Mitch Mitchell เมื่อปี 1968
John Lennon ไม่ชอบให้ใครมาอ้างว่ามีส่วนในความสำเร็จของ The Beatles รวมทั้งสมาชิกของวงเอง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า "I’m not the Beatles. I’m me. Paul isn’t the Beatles. Brian Epstein wasn’t the Beatles, neither is Dick James. The Beatles are the Beatles." (ผมไม่ใช่ The Beatles ผมก็คือผม Paul เองก็ไม่ใช่ Brian Epstein ก็ไม่ใช่ รวมทั้ง Dick James ด้วย The Beatles คือ The Beatles)
[หมายเหตุ  Dick James เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Northern Songs ร่วมกับ John, Paul และ Epstein ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลผลประโยชน์ด้านลิขสิทธิ์เพลงของ The Beatles]

นอกจากนี้ เขายังไม่ให้ความสำคัญกับ George Martin ถึงกับเคยเขียนจดหมายคุยกับ Paul ว่า "When people ask me questions about 'What did George Martin really do for you?' I have only one answer, 'What does he do now?' I noticed you had no answer for that! It's not a putdown, it's the truth." (เมื่อคนถามผมว่า "George Martin ทำอะไรให้คุณบ้าง?" ผมคงจะย้อนถามว่า "แล้วตอนนี้เขาทำอะไรอยู่?" ผมคิดว่าคุณคงตอบไม่ได้! ผมไม่ได้ต้องการจะดูถูก แต่มันคือความจริง)

ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นความเห็นที่แสดงถึงอัตตามากเกินไป เพราะการมี George Martin เป็น mentor ทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงทางด้านดนตรีน่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาการด้านดนตรีในช่วงแรกๆของ John และ Paul โดยเฉพาะในด้านการแต่งเพลงและเทคนิคการอัดเสียงต่างๆ ถ้าไม่มี Martin อยู่ถูกที่ถูกเวลา เราอาจจะไม่ได้เห็นรูปแบบดนตรีของ The Beatles อย่างที่เป็นอยู่ก็ได้ ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า George Martin สมควรจะเป็น The Fifth Beatle มากที่สุดครับ


เฉลย Daily Quiz #6


คำตอบคือเพลง Because

เพลงนี้ John เกิดแรงบันดาลใจจากการได้ฟัง Yoko Ono เล่นเปียโนเพลง Moonlight Sonata ของ Beethoven คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่า Yoko นั้นมาจากตระกูลดี ตระกูลนายธนาคารญี่ปุ่น แต่ถูกพ่อแม่ตัดหางปล่อยวัดเพราะไปได้กับคนชั้นต่ำกว่าก่อนจะมารู้จักกับ John ฟังดูน้ำเน่า แต่เป็นเรื่องจริงครับ แสดงว่าYoko ต้องมีอะไรดีในตัว ไม่อย่างนั้น John คงไม่หลงใหลขนาดนั้น หรือบางคนอาจจะบอกว่าทั้งคู่บ้าพอกันก็ได้

John ฟังแล้วเกิดไอเดียให้ Yoko ลองเล่นเพลง (คอร์ด) กลับหลัง แล้ว John ก็ใช้การเดินคอร์ด (chord progression) ที่ได้มาใส่ทำนองและเนื้อร้องเข้าไป

เพลงนี้ร้องประสานเสียงแบบ 3-part harmony โดย John, Paul และ George ซึ่งบอกว่าเป็นเพลงโปรดของเขาในอัลบั้ม Abbey Road




วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Daily Quiz #6


เพลงไหนของ The Beatles ที่ได้รับอิทธิพลจาก Moonlight Sonata ของ Beethoven?


เฉลย Daily Quiz #5




ตามข้อมูลของเว็บไซต์ Songfacts คือเพลง And I Love Her มีการ cover ทั้งหมด  372 versions (นับถึงแค่ปี 1972)

แต่ถ้าตามข้อมูลของเว็บไซต์ชื่อประหลาด Mentalfloss บอกว่าเป็นเพลง Eleanor Rigby ซึ่งมี cover ทั้งหมด 131 ครั้งนับถึงปี 2009

สงสัยจะใช้เกณฑ์การนับที่แตกต่างกัน ก็เลือกเชื่อกันตามชอบใจละกันนะครับ



วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Daily Quiz #5

สมาชิกส่วนใหญ่คงทราบกันดีแล้วว่าเพลง Yesterday ของ The Beatles เป็นเพลงที่ถูกนำมา cover มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ตามบันทึกของ The Guinness Book Of World Records  บอกว่าเพลงนี้ถูก cover ไปแล้วมากกว่า 3,000 เวอร์ชัน

อยากทราบว่าเพลงไหนของ The Beatles ถูก cover มากเป็นอันดับสอง?


เฉลย Daily Quiz #4



เพลง Here, There and Everywhere ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม Revolver ที่วางตลาดในอังกฤษเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 1966

Paul ชอบเพลงนี้เพราะทุกองค์ประกอบของเพลงไม่ว่าจะเป็นเนื้อร้อง (John ช่วยแต่งเนื้อร้องตอนท้ายเล็กน้อย) ทำนองและการประสานเสียงลงตัวดี  Paul ยอมรับว่าการแต่งเพลงนี้ได้รับอิทธิพลบางส่วนจากเพลง God Only Knows ของ The Beach Boys โดยเฉพาะการที่เพลงนี้มีช่วง intro ก่อนจะเข้าสู่เนื้อร้องท่อนหลัก (To lead a better life, I need my love to be here...)

นอกจากนี้ เขายังบอกอีกว่าการเดินคอร์ดของเพลงนี้ได้รับอิทธิพลจากเพลงสไตล์ bossa nova จากบราซิลที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงนั้น



วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Daily Quiz #4


เพลงของ The Beatles เพลงไหนเป็นเพลงโปรดของ Paul McCartney?



เฉลย Daily Quiz #3


(ต้องขออภัยด้วยครับที่เกิดข้อผิดพลาดในการตั้งคำถามนี้ ความจริงเพลงนี้ไม่ใช่เพลงเดียวที่ Paul แต่งเนื้อร้องก่อน แต่เป็นเพลงแรกที่เขาใช้เทคนิคนี้ ก่อนหน้านั้น เขามักจะแต่งทำนองก่อน ผมได้แก้ไขคำถามให้ถูกต้องแล้วครับ)

คำตอบคือเพลง All My Loving ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม With the Beatles ที่ออกวางตลาดในอังกฤษวันที่ 22 พ.ย. 1963

Paul เขียนเนื้อร้องเป็นบทกลอนบนรถบัสระหว่างการทัวร์ แต่ไปแต่งทำนองตอนถึงที่หมายแล้ว

Daily Quiz #3



ในช่วงแรก Paul McCartney สมัยที่ยังเป็นสมาชิก The Beatles มักจะแต่งเพลงโดยแต่งทำนองก่อนแล้วตามด้วยเนื้อร้อง แต่เพลงไหนเป็นเพลงแรกที่ Paul แต่งเนื้อร้องก่อน?


เฉลย Daily Quiz #2


The Beatles ไปออกรายการ The Ed Sullivan Show ทั้งหมด 3 ครั้งในวันที่ 9 ก.พ. 16 ก.พ. และ 23 ก.พ. 1964 สามสัปดาห์ติดต่อกัน แต่เป็นการไปปรากฏสดเพียงแค่สองครั้งแรก ครั้งที่สามเป็นเทปที่อัดไว้ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.

นอกจากนี้ The Ed Sullivan Show ไม่ใช่รายการทีวีรายการแรกที่นำ The Beatles ไปออกอากาศ รายการแรกที่นำไปออกคือรายการข่าว The Huntley Brinkley Report ของสถานีโทรทัศน์ NBC
ความดังของ The Beatles ทำให้สถานีโทรทัศน์อเมริกันหลายแห่งส่งทีมข่าวไปบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตของวงที่ Bournemouth (เมืองชายฝั่งทางใต้ของอังกฤษ) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 1963 NBC รีบเอาฟิล์มบันทึกการแสดงความยาว 4 นาทีมาออกอากาศในรายการ The Huntley Brinkley Report ในวันที่ 18 พ.ย.

CBS เอาข่าวเดียวกันมาออกหลังจากนั้นในวันที่ 22 พ.ย. ในรายการข่าวช่วงเช้าของ Mike Wallace โดยที่ทางสถานีวางแผนจะนำมาออกอากาศอีกครั้งในตอนเย็นช่วงรายการข่าวของ Walter Cronkite แต่เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดี Kennedy ที่ Dallas เสียก่อนหลังข่าวช่วงเช้าไม่กี่ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด Cronkite ก็เอาข่าว The Beatles มาออกอากาศอีกครั้งในวันที่ 10 ธ.ค. ทำให้เกิดกระแส Beatlemania ดังไปทั่วอเมริกาจนนำไปสู่การถูกเชิญไปออกรายการ The Ed Sullivan Show ในเดือน ก.พ. 1964 แต่ถ้านับเฉพาะการถ่ายทอดสดทางทีวี ก็ต้องถือว่าการไปปรากฏตัวของ The Beatles ในรายการนี้ที่ Studio 50 ในนิวยอร์กเป็นครั้งแรกจริงๆ

ข่าว NBC

ออกรายการ Ed Sullivan Show



วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Daily Quiz #2



The Beatles ไปออกรายการ The Ed Sullivan Show ในอเมริกาทั้งหมดกี่ครั้ง?


เฉลย Daily Quiz #1


คำตอบคือเพลง I Want to Hold Your Hand ซึ่งเริ่มจากการที่ John และ Paul นั่งเล่นเปียโนอยู่ด้วยกันที่ใต้ถุนบ้านของ Jane Asher แฟนอย่างเปิดเผยคนแรกของ Paul

ทั้งสองคนช่วยกันคิดเนื้อเพลงประโยคแรกว่า “…Oh you…got that something…” แล้ว Paul ฮัมเนื้อเพลงนี้และเล่นคอร์ดแรกของเพลง (คอร์ด G) จากนั้นก็ช่วยกันแต่งจนจบภายในเวลาไม่นาน

การแต่งเพลงในยุคแรกๆของทั้งสองคนเป็นการช่วยกันแต่งจริงๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างแต่งเหมือนในยุคหลัง

เพลงนี้เป็นเพลงฮิตเพลงแรกของ The Beatles ในอเมริกา มีเกร็ดเล็กน้อยว่าทางวงตกลงไปออกรายการ Ed Sullivan Show ก่อนที่เพลงนี้จะขึ้นถึงอันดับหนึ่งทำให้ได้ค่าตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น


Daily Quiz #1



เพลงไหนของ The Beatles ที่เกิดจากการแจมเปียโนระหว่าง John และ Paul?

สมาขิกคนใดทราบคำตอบ ก็เชิญแชร์ในบล็อกนี้ได้เลยนะครับ



The Beatles in Concert


ขอคัดภาพและลิงก์คลิปวิดีโอหรือการบันทึกเสียงจากการแสดงคอนเสิร์ตบางส่วนของ The Beatles มาให้ดูกันครับ


Sweden Tour (ต.ค. 1963)





1963 TV Concert (7 ธ.ค. 1963)

(เป็นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในช่วงบ่ายสำหรับสมาชิกแฟนเพลงที่เป็นสมาชิก Northern Area Fan Club จำนวน 2,500 คนของ The Beatles ที่ Liverpool's Empire TheatreโดยทางBBC ได้บันทึกไว้และนำมาออกอากาศในตอนค่ำวันเดียวกันโดยใช้ชื่อรายการว่า It's The Beatles)


Hollywood Bowl (23 ส.ค. 1964)









Netherlands Tour (5-6 มิ.ย. 1964)












Australia Tour (12-20 มิ.ย. 1964)






Shea Stadium, New York (15 ส.ค. 1965)











Germany Tour (มิ.ย. 1966)







Japan Tour (ก.ค. 1966)








คอนเสิร์ตเชิงพาณิชย์ครั้งสุดท้ายที่ Candlestick Park, San Francisco (29 ส.ค. 1966)







Rooftop Concert (30 ม.ค. 1969)

(ไม่จัดเป็นการจัดคอนเสิร์ตเชิงพาณิชย์ตามปกติ หากเป็นการแสดงสดเพื่อเป็นฉากไคลแม็กซ์ให้ภาพยนตร์กึ่งสารคดี Get Back เบื้องหลังการทำอัลบั้มชื่อเดียวกันซึ่งต่อมากลายมาเป็นอัลบั้ม Let It Be สำหรับรายละเอียดในเรื่องนี้ ผมจะได้นำมาเสนอโดยละเอียดในโอกาสต่อไปครับ)