วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

อิทธิพลของ George Martin ต่อบทเพลงของ The Beatles




หากจะเปรียบ The Beatles เป็นเพชรเม็ดงาม ก็ต้องถือว่าผู้จัดการวง Brian Epstein เป็นผู้ค้นพบ แต่คงต้องให้เครดิตกับโปรดิวเซอร์ George Martin ในฐานะผู้ที่ช่วยเจียระไนให้มันกลายเป็นเพชรเม็ดงาม โดยดึงเอาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวพวกเขาออกมา


ผมได้พูดถึงอิทธิพลของ George Martin ไปบ้างแล้วในบทความ “The Fifth Beatle” สำหรับวันนี้ ผมขอพูดเฉพาะเจาะจงถึงอิทธิพลสำคัญของ George Martin ที่มีต่อ 11 เพลงของ The Beatles ดังนี้ครับ

1. Love Me Do (จากอัลบั้มแรก Please Please Me มี.ค.1963 ซึ่งยังอัดในระบบโมโน) แม้จะเป็นซิงเกิลฮิตเพลงแรกของ The Beatles (ขึ้นถึงแค่อันดับ 17 ในอังกฤษและอันดับ 4 ในอเมริกา) แต่คงเป็นเพลงที่ Ringo Starr อยากจะลืม เพราะ George Martin ตัดสินใจว่าจะใช้มือกลองชื่อ Andy White แทน เป็นไปได้ว่าตอนนั้นฝีมือตีกลองของ Ringo อาจจะยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นที่ Martin พอใจ
2. Please Please Me (อัลบั้ม Please Please Me) เดิม John Lennon แต่งซิงเกิลฮิตเพลงที่สองของวงเพลงนี้ (ขึ้นถึงอันดับสองในอังกฤษ) โดยต้องการให้เป็นเพลงช้าแนวเดียวกับเพลงของ Roy Orbison แต่ Martin แนะนำว่าควรจะทำออกมาเป็นเพลงเร็วมากกว่า
3. Yesterday (อัลบั้ม Help! ส.ค.1965) สำหรับเพลงนี้ George Martin เห็นว่าเสียงร้องบวกการเล่น acoustic guitar ของ Paul แทบจะสมบูรณ์ลงตัวในความเรียบง่ายอยู่แล้ว สิ่งที่เขาเพิ่มเติมเข้าไปก็เป็นเพลงเสียงประสานของเครื่องสายไวโอลินที่บรรเลงเบาๆเป็น background เท่านั้น
นี่เป็นสไตล์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการใช้ big sound ของโปรดิวเซอร์ Phil Spector จากอัลบั้ม Let It Be ในเพลง The Long and Winding Road ที่ใช้วงออร์เคสตราแบ็คอัพขนาดใหญ่ซึ่งเสริมเครื่องดนตรีจำนวนมากกว่าปกติ ทำให้สไตล์เพลงออกมาผิดไปจากที่ Paul ต้องการ ไม่ได้บรรยากาศง่ายๆที่ตั้งใจไว้แต่แรก จนต้องเอามาทำใหม่ในอัลบั้ม Let It Be…Naked ที่ตัดเสียงวงใหญ่แบ็คอัพ เหลือแค่เสียงเปียโนคลอเสียงร้องของ Paul (ตรงนี้คงแล้วแต่ชอบนะครับ สำหรับผม ชอบทั้งสองเวอร์ชันซึ่งดีไปคนละแบบ) มีเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆเกี่ยวกับอัลบั้ม Let It Be…Naked ซึ่งผมจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ



4. In My Life (อัลบั้ม Rubber Soul ธ.ค.1965) เมื่อ Lennon ต้องการแต่งเพลงที่มีอารมณ์เพลงประเภทครวญหาอดีตอย่าง Yesterday และมีกลิ่นอายแบบ baroque โปรดิวเซอร์ Martin จึงช่วยแต่งและบรรเลงท่อนแยกด้วย harpsichord ซึ่งเป็นท่อนที่พวกเราคงจำกันได้ดีเพราะค่อนข้างมีเอกลักษณ์
5. Eleanor Rigby (อัลบั้ม Revolver ส.ค.1966) ตรงกันข้ามกับ Yesterday การบรรเลงของเครื่องสาย 8 ชิ้น (octet) ที่เรียบเรียงโดย George Martin ในเพลงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะการเล่นเครื่องสายแบบ staccato (สีคันชักด้วยช่วงสั้นๆอย่างรวดเร็ว) ในท่อนแยกของเพลงนี้เป็นเสียงที่เป็นเอกลักษณ์และคุ้นหูที่สุดท่อนหนึ่งในแวดวงดนตรีป็อป
          6. A Day in the Life (อัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band มิ.ย. 1967) ท่อนไคลแม็กซ์ของเพลงนี้แม้จะเป็นไอเดียของ Paul ที่ต้องการให้วงออร์เคสตราค่อยๆบรรเลงจากโน้ตต่ำไล่ไปหาสูง แต่เนื่องจากนักดนตรีแนวนี้ซึ่งปกติจะเล่นตามโน้ตที่เขียนมาคงไม่ทราบว่าแต่ละคนจะต้องเล่นโน้ตตัวไหน ในสารคดีชุด Soundbreaking Martin เปิดเผยเคล็ดลับในเรื่องนี้ เขาแก้ปัญหาด้วยการบอกให้นักดนตรีแต่ละคนเล่นโน้ตตัวไหนก็ได้โดยไล่จากต่ำไปหาสูง ขออย่างเดียวต้องเป็นโน้ตคนละตัวกับนักดนตรีที่เล่นอยู่ข้างๆ ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมตอนจบของเพลงนี้จึงฟังดูสับสนวุ่นวายได้ขนาดนั้น



          7. Being for the Benefit of Mr. Kite (อัลบั้ม Sgt. Pepper’s) สำหรับเพลงนี้ Lennon มอบหน้าที่ให้ Martin สร้างเสียงที่ฟังดูเหมือนเสียงในคณะละครสัตว์หรืองาน carnival (ประเภทงานวัดบ้านเรา) Martin เล่นและผสมเสียงเครื่องดนตรีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น harmonium (คล้าย accordion ใช้มือหรือเท้าในการปั๊มแรงดันลม) ออร์แกนหลายๆประเภท เปียโน glockenspiel (คล้ายระนาด) เพื่อให้ได้เสียงในแบบที่ต้องการ
          8. Strawberry Fields Forever (อัลบั้ม Magical Mystery Tour พ.ย.1967) เพลงนี้น่าจะเป็นงานยากที่สุดเพลงหนึ่งในหน้าที่โปรดิวเซอร์ของ Martin เพราะ John อัดต้นฉบับเพลงนี้ไว้สองเวอร์ชันด้วยคีย์และความเร็วที่แตกต่างกันแต่เขาต้องการให้จับสองเวอร์ชันนี้ผสมกันทำนองรักพี่เสียดายน้อง Martin กับวิศวกรเสียง Geoff Emerick ต้องใช้วิธีตัดต่อและปรับความเร็วเทปทั้งสองเวอร์ชันเพื่อให้เสียงที่ออกมากลมกลืนเข้ากันให้ได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆในยุคที่ยังใช้เทป analog ไม่ใช่ระบบ digital เหมือนสมัยนี้
          9. I Am the Walrus (อัลบั้ม Magical Mystery Tour) เพลงของ John Lennon เพลงนี้เป็นเพลงที่ George Martin ไม่ชอบเมื่อได้ยินเป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับมอบหมายให้แต่งและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยวงออร์เคสตรา เป็นที่มาของการบรรเลงแบ็คอัพด้วยหมู่ไวโอลิน เชลโล เครื่องเป่า คลาริเน็ต และคณะนักร้องเสียงประสาน (choir) 16 คน ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Martin จึงไม่ชอบเพลงนี้ เพราะแม้แต่ Lennon ยังเคยพูดทีเล่นทีจริงว่าเขาไม่หวังให้ใครมาฮัมเพลงนี้ได้เหมือนเพลง Yesterday



          10. All You Need Is Love (อัลบั้ม Magical Mystery Tour) เพลงสัญลักษณ์ของยุคฮิปปี้หรือยุคแห่งการแสวงหา เป็นความคิดของ Martin ที่เริ่มต้นเพลงนี้ด้วย La Marseillaise เพลงชาติฝรั่งเศสและแอบใส่ท่อนหนึ่งจากเพลงแนวแจ๊สบิกแบนด์ระดับคลาสสิค In the Mood ของ Glenn Miller เข้าไป นอกจากนี้ Martin ยังเล่นเปียโนในเพลงนี้ด้วย
          11. Good Night (The Beatles หรือ White Album พ.ย. 1968) แม้ว่าอัลบั้มแผ่นคู่นี้จะเป็นอัลบั้มที่ Beatle แต่ละคนแสดงความเป็นตัวของตัวเองกันอย่างเต็มที่โดยโปรดิวซ์เพลงด้วยตัวเองจนทำให้รูปแบบเพลงที่ออกมาหลากหลาย แต่ Martin ก็ยังอุตส่าห์ยืนยันความเป็นโปรดิวเซอร์ในแบบฉบับของเขาด้วยการใช้เครื่องสายบรรเลงในเพลงนี้ เป็นเพลงปิดท้ายอัลบั้มที่หวนกลับไปหาความนุ่มนวลละมุนละไมในอดีต
          น่าสังเกตว่า ในจำนวน 11 เพลงที่พูดมา เป็นเพลงของ Lennon เสีย 8 เพลง (ทุกเพลงยกเว้น Love Me Do, Yesterday, Eleanor Rigby) ทำให้ขัดกับคำพูดของเขาที่เคยบอกว่า ‘When people ask me questions about “What did George Martin really do for you?,” I have only one answer, “What does he do now?” I noticed you had no answer for that! It's not a putdown, it's the truth.’ [เมื่อคนถามผมว่า "George Martin ทำอะไรให้คุณบ้าง?" ผมคงตอบย้อนถามว่า "แล้วตอนนี้เขาทำอะไรอยู่?" ผมคิดว่าคุณคงตอบไม่ได้! ผมไม่ได้ต้องการจะดูถูก แต่มันคือความจริง]





          นี่จึงน่าจะเป็นความเห็นที่แสดงถึงอัตตาของ John มากไปหน่อยครับ
          ตามคำให้สัมภาษณ์ของ George Martin ในสารคดีเรื่อง Produced by George Martin เขาเจ็บปวดมากตอนที่ Lennon มอบหน้าที่โปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม Let It Be ให้กับ Phil Spector เพราะเป็นอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวของ The Beatles ที่ Martin ไม่ได้เป็นโปรดิวเซอร์ให้ (ผมดูสารคดีเรื่องนี้ทางช่อง Sundance Channel ยังหาแหล่งดาวน์โหลดไฟล์ไม่ได้ ใครทราบช่วยบอกด้วยครับ)
          แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีว่า John คงได้คิดในเรื่องนี้ เลยชวน Martin กลับมาช่วยทำสตูดิโออัลบั้มสุดท้ายของวงคือ Abbey Road ที่เคยเขียนเล่าให้ฟังไปแล้วในบทความ “ประวัติของวง ตอนที่ 4” ว่าเป็นอัลบั้มสั่งลาที่ The Beatles มารวมตัวกันเพื่อทำอัลบั้มเพื่อแฟนเพลงของวงเป็นครั้งสุดท้าย Martin เล่าให้ฟังในสารคดี Produced by George Martin ว่าระหว่างการทำอัลบั้มสุดท้ายด้วยกัน Lennon ทำตัวดีชนิด “…sweet as pie…” แสดงว่า John เองก็คงไม่อยากให้ต้องจากกันด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี ซึ่งก็น่าจะถือเป็น happy ending ในด้านความสัมพันธ์ของทั้งคู่


วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

Chaos and Creation at Abbey Road: คอนเสิร์ตที่บอกเล่ากระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของ The Beatles




ต้องขอโทษสมาชิกด้วยครับที่ห่างหายไปนานเนื่องจากติดภารกิจส่วนตัวบวกกับเป็นช่วงจำศีลทำให้อยากอยู่เงียบๆคนเดียวสักพักครับ

วันนี้ขอกลับมาด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับคอนเสิร์ตในบรรยากาศส่วนตัวแบบเป็นกันเองของ Paul McCartney ภายใน Studio 2 ซึ่งเป็นสตูดิโอที่ใช้อัดเสียงเพลงส่วนใหญ่ของ The Beatles คอนเสิร์ตนี้จัดขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับบรรดามิตรสหายและแฟนเพลงกลุ่มเล็กๆของ Paul McCartney เพื่อโปรโมทอัลบั้ม Chaos and Creation in the Backyard ของ Paul ที่ออกมาในปี 2005 เคยนำออกฉายทางสถานี BBC Two ในอังกฤษ และ PBS ในอเมริกา 

แม้ว่าเทคโนโลยีที่แสดงจะล้าสมัยไปแล้วเพราะเป็นเทคโนโลยียุค analog ที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆยุค digital แต่ในตอนที่ The Beatles เริ่มนำกระบวนการที่ Paul สาธิตให้ดูในคอนเสิร์ตนี้ต้องถือว่าเป็น state of the art ในยุคนั้น







Highlights ที่น่าสนใจของคอนเสิร์ตนี้ ได้แก่

- สาธิตการอัดเทป 4-track ที่ใช้ในอัลบั้ม Sgt. Pepper แต่เทคโนโลยีนี้ The Beatles เริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกในซิงเกิล I Want to Hold Your Hand สองอัลบั้มแรกของ The Beatles (Please Please Me, With the Beatles) ยังคงใช้การอัดแบบ 2-track

Abbey Road Studios ของ EMI ต้นสังกัดของ The Beatles ค่อนข้างช้าในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ โดยเห็นได้จากการอัดในระบบ 8-track ที่มีมาตั้งแต่ปี 1968 แต่ EMI ก็ยังไม่ได้นำมาใช้ในสตูดิโอ ทำให้หลายเพลงของ The Beatles ต้องไปอัดในสตูดิโออื่นที่ upgrade แล้วเพราะทางวงต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในผลงานของตน Abbey Road อัลบั้มที่อัดเสียงเป็นอัลบั้มสุดท้าย (แต่ออกมาก่อน Let It Be รายละเอียดเรื่องนี้อยู่ในบทความ "การแยกวง ตอนที่ 1") เป็นอัลบั้มเดียวที่ใช้การอัดด้วยระบบที่ใช้ transistor เริ่มต้นการเข้าสู่ยุค digital

- double bass ที่ Elvis ใช้ในการเล่นและอัดเสียงตอนที่ Elvis เริ่มเข้าวงการ สังเกตว่า Paul ร้องเพลงเลียนแบบเสียงของ Elvis ด้วยเสียงทุ้มต่ำที่ปกติเขาจะไม่ค่อยใช้ในเพลงของ The Beatles ตามทฤษฎีเสียงแล้ว ระดับเสียงของ Paul อยู่ในช่วงเสียงที่เรียกว่า baritenor ที่คาบเกี่ยวระหว่าง baritone และ tenor คือเป็นช่วงที่กว้างมาก เสียงของเขาสามารถจะลงต่ำและขึ้นสูงได้มากกว่าคนทั่วไป

- สาธิตวิธีเล่น mellotron ต้นแบบของ synthesizer โดยใช้บรรเลงในเพลง Strawberry Fields Forever ในช่วงต้นของเพลง ต้องให้เครดิตกับ The Beatles ที่ทำให้เครื่องดนตรีประเภท synthesizer ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา

John และ Paul กำลังง่วนอยู่กับ mellotron



- ที่มาของ bass line เพลง Blackbird ตามคำอธิบายของ Paul ในคลิปนี้ เขาแค่บอกว่าเขาแต่งเพลงนี้โดยได้รับอิทธิพลจากเพลงหนึ่งของ J. S. Bach ที่เขาและ George หัดเล่นตอนเป็นเด็กแต่บอกว่าจำชื่อบทเพลงนี้ไม่ได้ ผู้รู้ให้ข้อมูลว่าเพลงนี้น่าจะมาจากบทเพลง Bourree in E minor ของ Bach ยังมีรายละเอียดน่าสนใจเกี่ยวกับการแต่งเพลงนี้ที่ผมจะได้นำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ

- ขั้นตอนการอัดเสียงที่เริ่มตั้งแต่การตีกลองไปจนถึงเมโลดี้โดยใช้การเดินคอร์ดจากเพลง Blue Suede Shoes ของ Elvis ช่วงนี้เป็นช่วงที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็น entertainer ของ Paul ที่สร้างอารมณ์และการมีส่วนร่วมจากคนดูได้ดีจนทำให้เขายังคงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงจนทุกวันนี้



วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

ครบรอบ 50 ปี อัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band





ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีของอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles ซึ่งออกวางตลาดเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 1967 ในอังกฤษ และวันที่ 2 มิ.ย. 1967 ในอเมริกา เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 8 ของวงนี้ อะไรทำให้อัลบั้มนี้ถูกยกย่องให้เป็นร็อกอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลโดยนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ สาเหตุหลักน่าจะมาจากอิทธิพลของมันที่มีต่อวงการเพลงในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบ concept album ที่นำไปสู่ยุค album era ที่ศิลปินมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานแทนที่จะต้องถูกพันธนาการด้วยการมุ่งผลิตเพลงในรูปแบบของซิงเกิลที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการนำเสนอโดยมุ่งเน้นเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว การออกอัลบั้มส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการรวมเอาเพลงที่ออกเป็นแผ่นซิงเกิลมาแล้วเข้าด้วยกันแล้วเพิ่มเพลงที่มีคุณภาพด้อยกว่าเพียงเพื่อ“เติม” อัลบั้มให้เต็มเท่านั้น

The Beatles ไม่เห็นด้วยกับการทำแบบนี้เพราะมองว่าเป็นการเอาเปรียบแฟนเพลงที่ต้องเสียเงินซื้อเพลงเดียวกันถึงสองหน นี่ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สองเพลงที่ผลิตขึ้นมาก่อนหน้าและถูกนำไปทำเป็นซิงเกิล Strawberry Fields Forever / Penny Lane ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้ม Sgt. Pepper ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการทำอัลบั้มเพลงป็อปในสมัยนั้นเพราะมีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์วงการเพลงป็อปที่เราจะแยกได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือ“ยุคก่อน” และ “ยุคหลัง” อัลบั้ม Sgt.Pepper ถือเป็นเส้นแบ่งยุคที่เห็นได้อย่างชัดเจน

อัลบั้ม Sgt. Pepper ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของยุคฮิปปี้ที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมและต้องการมองหาสิ่งใหม่ๆให้กับสังคมเป็นยุคแห่งการแสวงหาและไม่ยอมรับคิดแบบเก่าๆหรือที่เรียกกันว่า counterculture มีเพลงซึ่งเนื้อหาถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่าง Lucy In The Sky With Diamonds (ซึ่งย่อได้เป็น LSD ยาเสพติดที่นิยมกันในหมู่ฮิปปี้ในยุคนั้น) หรือ With A Little Help From My Friend (ซึ่งมีท่อนหนึ่งที่บอกว่า “I get high” ซึ่งเป็นคำสแลงหมายถึงกำลังเมายา หรือ “take some tea” ซึ่งอาจจะหมายถึงการพี้กัญชา) หรือแม้แต่ปกอัลบั้มที่ออกแนว psychedelic ที่ฉีกแนวจากปกอัลบั้มป็อปทั่วไป (ความจริงแนวโน้มนี้เริ่มเห็นได้ตั้งแต่อัลบั้มก่อนหน้าคือ Revolver ซึ่งใช้ลายเส้นสีขาวดำ)

แต่หากมองในแง่เนื้อหาของหลายเพลงในอัลบั้มนี้แล้วเรากลับพบว่าเพลงส่วนใหญ่ยังมีเนื้อหาที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เช่น เพลง She’s Leaving Home และเพลง When I’m Sixty-Four ที่ยังมีมุมมองของคนรุ่นเก่าหรือแม้แต่เพลง Fixing Hole ก็เป็นการบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของการใช้ชีวิตของคนทั่วไป เนื้อหาเช่นนี้ดูจะไม่เหมาะกับอัลบั้มที่ออกมาในช่วง Summer of Love ปี 1967 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรมในยุคแห่งการแสวงหาของเหล่าบุปผาชน

สิ่งที่เป็นจุดเด่นอย่างแท้จริงของอัลบั้มนี้คือรูปแบบดนตรีที่แม้นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งจะบอกว่าเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ไม่ใช่เพลงที่เพราะและชวนจดจำมากเท่ากับอัลบั้มก่อนหน้าของ The Beatles ไม่ว่าจะเป็น Rubber Soul หรือ Revolver แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจารณ์เห็นพ้องกันคือความกล้าในการลองและผสมผสานรูปแบบดนตรีหลากหลายเช่น rock, jazz, blues, avant-garde เป็นต้น นับได้ว่าเป็นต้นแบบของ progressive rock ในเวลาต่อมา  มีการใช้เทคนิคการอัดเสียงใหม่ๆ เช่น การตัดต่อเทปให้เล่นวนหรือ loop tape การสร้างเอฟเฟกต์ด้วยการเล่นเทปกลับหลัง การผสมเสียงของเทปจากการอัดสองครั้งที่จังหวะและระดับความถี่เสียง (pitch) ที่แตกต่างกัน

เทคนิคต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ลูกเล่นเท่านั้น แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งเพลงเพราะเป็นการใช้เอฟเฟกต์เพื่อให้เกิดอิทธิพลต่ออารมณ์ของผู้ฟังที่สอดคล้องกับเนื้อหาของเพลง มีรูปแบบที่คล้ายกับการสร้างงานศิลปะแนว avant-garde ซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคนั้น โดยเฉพาะเทคนิคแบบ collage ที่สร้างงานศิลปะขึ้นใหม่จากการผสมผสานและดัดแปลงงานศิลปะแบบเก่าเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ Sgt. Pepper ยังเป็นอัลบั้มแรกที่ไม่มีช่องว่างระหว่างแต่ละแทร็ก เมื่อแทร็กหนึ่งจบจะต่อเนื่องไปเริ่มอีกแทร็กหนึ่งทันทีโดยไม่มีช่วงหยุดระหว่างเพลง ทำให้อารมณ์ในการฟังเพลงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่สะดุด John Lennon เคยคิดที่จะใช้เทคนิคนี้ในอัลบั้ม Revolver แต่ก็ไม่ได้ทำ

เพลงที่เป็น highlight ของอัลบั้มนี้คือเพลง A Day In The Life ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มต่อจากแทร็กเพลงซ้ำ Sgt. Pepper (Reprise) เพื่อให้สะท้อนถึงจุดจบของเรื่องราวในจินตนาการและการกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพลงนี้เป็นเพลงที่ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อน ประกอบด้วยท่อนหลัก 4 ท่อนและท่อน bridge ท่อนที่แปลกและค่อนข้าง abstract คือช่วงที่บรรเลงด้วยออร์เครสตราใช้เครื่องดนตรี 40 ชิ้นแบบให้อิสระกับนักดนตรีในการไล่โน้ตจากต่ำไปสูงซึ่งมีความยาวทั้งหมด 24 ห้องดนตรี สอดแทรกด้วยท่อนกลางที่ Paul เป็นคนแต่งและร้อง ส่วนที่เหลือของเพลงแต่งโดย John จากเรื่องราวที่เขาอ่านพบในหนังสือพิมพ์ เนื้อเพลงช่วงก่อนเข้าสู่การบรรเลงแบบอิสระของออร์เครสตรามีข้อความว่า “…I love to turn you on..” ซึ่ง BBC ในสมัยนั้นมองว่าหยาบคายเกินไปเพราะสื่อถึงเรื่องเพศ เป็นเหตุให้เพลงนี้ถูกแบนไม่ให้ออกอากาศ

เพลงจบลงด้วยคอร์ด E major ที่ดังอยู่เกือบหนึ่งนาทีเต็ม คอร์ดนี้เล่นด้วยเปียโน 3 หลังผสมด้วยเสียงของ harmonium (ออร์แกนโบราณชนิดหนึ่ง) และใช้เทคนิคในการอัดที่ช่วยให้ลากเสียงคอร์ดสุดท้ายออกไปนานถึงกว่า 40 วินาที

มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเพลงนี้ว่า ในตอนแรกเพลงปิดอัลบั้มควรจะเป็น Sgt. Pepper (Reprise) เพราะจะเป็นไปตาม concept ที่ให้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยวง Sgt.Pepper แต่เมื่อโปรดิวเซอร์ George Martin ได้ฟังคอร์ดสุดท้ายของเพลง A Day in the Life แล้วเขาคิดว่าเสียงทอดยาวของคอร์ดนี้ควรจะเป็นคอร์ดสุดท้ายของอัลบั้มนี้ ไม่มีอะไรจะมาแทนมันได้

แม้แต่ปกอัลบั้มนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย อย่างแรกที่มักพูดถึงกันคือการสื่อด้วยภาพของวงในจินตนาการ Sgt. Pepper ที่มีการแต่งกายรวมทั้งการไว้ทรงผมและหนวดเคราที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพลักษณ์ “mop tops” หรือ “สี่เต่าทอง” ที่มีสัญลักษณ์ปรากฏบนปกอัลบั้มด้วยหุ่นขี้ผึ้ง (จากพิพิธภัณฑ์ Madame Tussauds) ของสมาชิกทั้งสี่คนที่ถูกเบียดให้ไปยืนอยู่ด้านข้าง การไว้หนวดครึ้มและการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดสื่อถึงวัฒนธรรมฮิปปี้ที่กลายเป็นกระแสนิยมในยุคนั้น ภาพหมู่ของบุคคลสำคัญประกอบด้วยภาพถ่าย 57 ภาพและภาพหุ่นขี้ผึ้งอีก 9 ภาพ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญหลากหลายจากวงการต่างๆที่มีทั้งนักแสดง นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา กูรูลัทธิทางศาสนา นักเขียน นักร้องและนักแสดง ปกอัลบั้มนี้ได้รับรางวัล Grammy Award for Best Album Cover ในปี 1968  นอกจากนี้ ยังมีการนำเนื้อเพลงทุกเพลงมาพิมพ์ไว้บนปกหลังซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอัลบั้มเพลงร็อก

แม้ว่านักวิจารณ์บางส่วนจะบอกว่าคุณภาพโดยรวมของเพลงในอัลบั้มนี้อาจจะสู้อัลบั้มก่อนหน้าอย่าง Rubber Soul หรือ Revolver ไม่ได้ และลูกเล่นหลายอย่างในอัลบั้มนี้ The Beatles เคยลองมาแล้วในอัลบั้ม Rubber Soul และ Revolver แต่ในแง่ของความสำคัญทางประวัติศาสตร์วงการเพลงและด้านวัฒนธรรมคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความยิ่งใหญ่ของอัลบั้มนี้ ทั้งในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำ concept album (แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบ) และความกล้าในการลองรูปแบบดนตรีใหม่ๆตลอดจนเทคนิคการอัดเสียงที่ต้องถือว่าเป็น state of the art ในยุคนั้น

ในแง่ของการแต่งเพลงที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในอัลบั้มนี้ เห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ Rubber Soul โดยเฉพาะการเล่นคำในลักษณะบทกวีในเพลงอย่าง Norwegian Wood หรือ In My Life แต่ในแง่ของการทดลองใช้เสียงดนตรีและเทคนิคการอัดเสียงที่ท้าทายมาเริ่มอย่างจริงจังในอัลบั้ม Revolver ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ซึ่งปรากฏให้เห็นในสองอัลบั้มนี้ มาผสมผสานกันอย่างลงตัวในอัลบั้ม Sgt. Pepper

ไม่น่าเชื่อว่า Geoff Emerick วิศวกรเสียงมือใหม่ที่เริ่มทำงานในอัลบั้ม Revolver ตอนนั้นอายุแค่ 19 แต่ก็อาจจะเพราะความเยาว์วัยก็ได้ที่ทำให้กล้าลองของใหม่ๆ ยิ่งได้รับการกระตุ้นจาก The Beatles ที่คะยั้นคะยอให้ Geoff ทดลองทำเสียงกระตุ้นโสตประสาทในบรรยากาศภายใต้การเสพยาของสมาชิกวงซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องนี้ในยุคแห่งการแสวงหาของพวกฮิปปี้ในช่วงนั้น

Geoff บอกว่าสมาชิกวงบอกเขาตอนเริ่มทำอัลบั้มนี้ว่า พวกเขาต้องการให้เสียงของดนตรีแต่ละชิ้นที่ออกมาฟังไม่เหมือนกับเสียงตามธรรมชาติของมัน พูดง่ายๆคือพวกเขาต้องการให้เสียงที่ได้จากเทคนิคที่ใช้ในสตูดิโอเป็นองค์ประกอบสำคัญของเพลงนั้นๆด้วย

สิ่งที่น่าจะทำให้อัลบั้ม Sgt. Pepper ดู “ขลัง” กว่าในสายตาของคนทั่วไปเป็นเพราะเทคนิคในการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นการแปลงโฉม The Beatles เป็นวงในจินตนาการ Sgt. Pepper การสร้างกระแสด้วยการปิดตัวทำอัลบั้มนี้นานถึง 5 เดือน ในขณะที่ Revolver ใช้เวลาเพียง 2 เดือนครึ่ง

อีกเหตุผลหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ได้ให้การต้อนรับ Revolver ดีนักตอนที่ออกมาอาจจะมาจากคำพูดที่ไม่ระวังปากของ John ที่บอกว่า “…We’re more popular than Jesus now…” ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักในอเมริกา

โดยสรุปก็คือ หากมองในแง่พัฒนาการด้านดนตรี Revolver น่าจะถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในทิศทางการทำดนตรีของ The Beatles แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดนตรี  Sgt. Pepper ช่วยยกระดับความเป็นศิลปะของดนตรีร็อกในสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกอย่างแท้จริง



วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

Yesterday และ Georgia on My Mind: ความเหมือนที่แตกต่าง



เมื่อวันก่อน ผมได้เกริ่นไปนิดหนึ่งในบทความ “The Long and Winding Road: หนทางวิบากก่อนการแยกวง” ว่าเพลงนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากสไตล์เพลงของ Ray Charles ศิลปินที่ผสมผสานแนวเพลง soul, R&B และ jazz ซึ่งมีผลงานเป็นที่รู้จักกันดีมากมาย เช่น What I'd Say, Hit the Road Jack, Unchain My Heart, I Can't Stop Loving You, You Don't Know Me และ Georgia on My Mind ที่จะพูดถึงต่อไป

นอกจากเพลง The Long and Winding Road ที่ Paul McCartney บอกว่าเขาแต่งเพลงนี้โดยนึกถึงแนวเพลงของ Ray Charles ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีหลายคนเชื่อว่าเพลง Yesterday ซึ่งเป็นเพลงเอกของ Paul McCartney ก็น่าจะได้รับอิทธิพลจากเพลง Georgia on My Mind ของ Ray Charles

ถ้าใช้การฟังเพียงอย่างเดียว คงจะบอกได้ยากว่าทั้งสองเพลงมีความเหมือนกันตรงไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีชี้ว่าการเดินคอร์ดของทั้งสองเพลงใกล้เคียงกันมาก หากเปรียบเทียบการเดินคอร์ดกันดูตามรูปข้างล่างจะเห็นได้ว่า จากจำนวนการเดินคอร์ดต่อเนื่องกัน 12 คอร์ด มีเพียงคอร์ดเดียวเท่านั้นที่แตกต่างกัน





ท่านใดสนใจเชิญอ่านรายละเอียดการวิเคราะห์ของ Aaron Krerowicz ตามลิงข้างล่างนี้ครับ


คงเป็นไปได้มากว่า Paul คงเคยได้ยินเพลง Georgia on My Mind ของ Ray Charles มาก่อนและได้รับอิทธิพลผ่านทางจิตใต้สำนึก เนื่องจาก ตามคำให้สัมภาษณ์ของ Paul ทำนองเพลง Yesterday ผุดขึ้นมาในสมองในขณะที่เขากำลังหลับ ทำให้เขาต้องรีบลุกขึ้นมาเล่นเปียโนที่อยู่ข้างเตียงตามทำนองที่ผ่านเข้ามาในช่วงที่หลับอยู่ ในระหว่างที่เขายังคิดเนื้อร้องอย่างเป็นทางการไม่ได้ เขาแต่งเนื้อร้องแบบสนุกๆเพื่อให้สอดคล้องกับทำนองเพลงไปก่อนและตั้งชื่อเล่นให้กับเพลงในความฝันนี้ว่า Scrambled Egg

Paul เองก็กลัวว่าเขาอาจจะไปจำเพลงของคนอื่นไว้ใต้จิตสำนึก ทำให้เกิดการลอกเลียนโดยไม่เจตนา ถึงกับลงทุนลองเล่นเพลงนี้ให้คนใกล้ชิดฟังหลายคนและถามความเห็นว่ามีเพลงที่มีทำนองคล้ายๆกันไหม แต่ทุกคนที่ได้ยิน ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน

อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงอิทธิพลของ Ray Charles ที่มีต่อ Paul นอกจากการแต่งเพลง The Long and Winding Road แล้ว คือการที่เนื้อเพลง Back to the USSR มีเนื้อท่อนหนึ่งที่ว่า

“…Well the Ukraine girls really knock me out
They leave the West behind
And Moscow girls make me sing and shout
That Georgia's always on my mind…”

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นแค่การคาดเดานะครับ เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะพิสูจน์กันง่ายๆว่าจะมีการลอกเลียนกันแบบไม่ตั้งใจหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองเพลง ฟังยังไงก็ไม่เหมือนกันและมีเอกลักษณ์ด้วยกันทั้งคู่ จึงอาจจะเป็นแค่เหตุบังเอิญเท่านั้นครับ

ขอให้ข้อมูลเพิ่มอีกนิดครับ เพลง Georgia on My Mind แต่งโดย Hoagy Carmichael และ Stuart Gorrell และอัดไว้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1930 Ray Charles นำมา cover จนโด่งดังในอัลบั้ม The Genius Hits the Road ปี 1960 ส่วนเพลง Yesterday อยู่ในอัลบั้ม Help! ของ The Beatles ซึ่งออกมาในปี 1965




วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

The Long and Winding Road: หนทางวิบากก่อนการแยกวง




หากจะมีสักเพลงหนึ่งของ The Beatles ที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่เริ่มย่ำแย่ลงของสมาชิกจนต้องแยกวงกันไปในที่สุด เพลงนั้นก็น่าจะเป็นเพลง The Long and Winding Road ที่มีความเป็นมาตั้งแต่การแต่งเพลงไปจนถึงการอัดเสียงในช่วงที่เกิดปัญหาสารพัดขึ้นภายในวง

ในด้านการแต่ง Paul เริ่มแต่งเพลงนี้ตอนที่เขาอยู่ที่ Scotland ในปี 1968 ช่วงที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในวงเริ่มจะแย่ลงเรื่อยๆ มีการอัด demo tape เพลงนี้ระหว่างการทำอัลบั้ม The Beatles (White Album) แต่ก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ได้ทำต่อจนเสร็จ

Paul แต่งเพลงนี้โดยนึกถึงสไตล์เพลงของ Ray Charles แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่มีอะไรเหมือนเพลงของ Ray Charles เลย แต่อิทธิพลของเขาที่ Paul พูดถึงก็ปรากฏในโครงสร้างการเดินคอร์ดที่มีลักษณะคล้ายเพลงแจ๊สมากกว่าเพลงป็อปโดยทั่วไป นอกจากเพลงนี้แล้ว อิทธิพลของ Ray Charles ต่อการแต่งเพลงของ Paul ยังปรากฏในเพลงเอกของเขาคือ Yesterday ซึ่งผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ



บรรยากาศเครียดๆระหว่างการถ่ายทำสารคดี Get Back (Let It Be)



Paul บอกว่าเขาชอบแต่งเพลงเศร้าเพราะมันเหมือนการได้ระบายความในใจบางอย่างออกมา เป็นการระบายความเครียดในลักษณะหนึ่งโดยไม่ต้องพึ่งจิตแพทย์ มีความเป็นไปได้ที่เพลงนี้สะท้อนถึงจิตใต้สำนึกของ Paul ที่กำลังต้องเผชิญกับปัญหาความสัมพันธ์ที่เลวร้ายภายในวงช่วงนั้น เนื้อเพลงพูดถึงสิ่งที่พยายามไขว่คว้าแต่ไม่มีทางได้มา เป็นหนทางที่หาจุดจบไม่ได้ แม้แต่ John ก็ยอมรับว่า ตอนก่อนจะแยกวงเป็นช่วงที่ดูเหมือน Paul จะ creative มากไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลงนี้หรือเพลง Let It Be

The Beatles ซ้อมเพลงนี้อยู่หลายครั้งระหว่างการอัดเทปภาพยนตร์สารคดีพิเศษเรื่อง Get Back (ที่กลายมาเป็นอัลบั้ม Let It Be ในภายหลัง) ใน Twickenham Film Studios ซึ่งเป็นความคิดของ Paul ที่ต้องการจะหวนกลับไปหารากเหง้าของวงที่เน้นการแสดงคอนเสิร์ต โดยความคิดที่จะให้ซ้อมเพลงกันก่อนที่จะแสดงจริง และมีกล้องคอยเก็บภาพบรรยากาศในการซ้อมเพลงเพื่อใช้ประกอบสารคดีดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าจะมี Paul เพียงคนเดียวที่กระตือรือร้นในเรื่องนี้ สมาชิกคนอื่นไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยโดยเฉพาะ John และ George เพราะเบื่อที่ต้องมาซ้อมเพลงกันเหมือนสมัยก่อน

ในช่วงนั้น John ติดเฮโรอีนอย่างหนักและไม่ยอมห่าง Yoko Ono ที่อยู่ข้างกายตลอด George ทนไม่ได้ถึงขนาดเดินหนีออกจากสตูดิโอไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 1969 จนทำให้ต้องล้มเลิกการทำสารคดีเรื่องนี้ George ยื่นคำขาดว่าถ้าจะให้กลับมาร่วมกับวงต่อ จะต้องย้ายไปอัดเพลงกันที่ สนญ. Apple Records ที่ Savile Row ในลอนดอนแทน พวกเขาย้ายกลับมาลอนดอนในวันที่ 21 ม.ค. และล้มเลิกความคิดที่จะจัดคอนเสิร์ต






ด้วยความคุ้นเคยกับเพลงนี้และได้ซ้อมกันมาหลายครั้ง เมื่อย้ายกลับมาที่สตูดิโอ Apple Records พวกเขาจึงสามารถเริ่มอัดเพลงนี้ได้เลยในวันที่ 26 ม.ค. และอัดอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. หลังจากการแสดง Rooftop Concert ในวันก่อน Glyn Johns โปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม Get Back (ที่ล้มเลิกไปและเปลี่ยนมาเป็นอัลบั้ม Let It Be แทน) เลือกเวอร์ชันของวันที่ 26 ม.ค. มาใช้

เมื่อ Phil Spector ได้รับมอบหมายจาก Allen Klein ให้หน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้ม Let It Be ในเดือน เม.ย. 1970 (Allenได้รับความเห็นชอบจาก John, George และ Ringo ให้เป็นผู้จัดการวงคนใหม่ แต่ Paul ไม่เห็นด้วย อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในบทความ “ประวัติของวง ตอนที่ 4”) เขาเพิ่มการบรรเลงเครื่องสายและ chorus จากคณะนักร้องประสานเสียงเข้าไปด้วย


Phil Spector

Phil อ้างว่าที่เขาต้อง overdub แบบนี้เพราะต้นฉบับเดิมที่นำมาทำอัลบั้ม Let It Be มีปัญหาการเล่นเบสที่ผิดพลาดมากของ John Lennon (ตามความเห็นของ Ian MacDonald ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง The Beatles ในหนังสือ Revolution in the Head) เขาตั้งข้อสังเกตว่าการเล่นเบสของ John ในเพลงนี้ต่ำกว่ามาตรฐานมาก และเล่นผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อจนดูเหมือนกับจะเป็นการจงใจ  อย่าลืมว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง John และ Paul กำลังถึงจุดต่ำสุดในช่วงนั้น (ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งอาจจะเกิดจากฤทธิ์ยาเสพติดก็ได้ เพราะช่วงนั้น John ติดเฮโรอีนอย่างหนัก) แต่ Paul ก็โต้ว่า ความจริงสิ่งที่ Phil ควรจะทำมากกว่าคือการตัดเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาออกไป แล้วทำการอัดใหม่ เหมือนกับที่ทำกับเพลง Let It Be

ในตอนนั้น Paul ไม่ทราบเรื่องการ overdub โดย Phil มาก่อน เมื่อเขาได้ยินเวอร์ชันนี้ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะ concept เดิมของอัลบั้ม Get Back (Let It Be) คือการกลับไปหาความเรียบง่ายเหมือนในยุคแรกของวง เขาต้องการให้เพลงนี้เป็นเพลง ballad ง่ายๆที่มีแค่เสียงร้องคลอด้วยเครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้น

Paul โกรธจัดขนาดเขียนจดหมายเปิดผนึกต่อว่า Allen Klein ลองอ่านจดหมายนี้ดูครับ

Dear Sir,

In the future, no one will be allowed to add to or subtract from a recording of any of my songs without my permission.

I had considered orchestrating "The Long and Winding Road," but I had decided against it. I therefore want it altered to these specifications:

1. Strings, horns, voices and all added noises to be reduced in volume.
2. Vocal and Beatles instrumentation to be brought up in volume.
3. Harp to be removed completely at the end of the song and original piano notes to be substituted.
4. Don't ever do it again.

Signed,

Paul McCartney

c.c. Phil Spector
     John Eastman

[ในอนาคต ห้ามผู้ใดดัดแปลงเทปการบันทึกเสียงเพลงของผมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผมเคยคิดที่จะใช้การบรรเลงด้วยวงออร์เครสตราเป็นแบ็คอัพในเพลง “The Long and Winding Road” มาแล้ว แต่ก็ตัดสินใจไม่ทำ ดังนั้น ผมต้องการให้ดำเนินการแก้ไขดังนี้

1. ลดความดังของเสียงที่เพิ่มเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องสาย เครื่องเป่า เสียงร้อง และเสียงเพิ่มอื่นๆ
2. เพิ่มความดังของเสียงร้องและการเล่นดนตรีของ The Beatles
3. เอาเสียงพิณในตอนท้ายของเพลงออกทั้งหมด และให้ใส่เสียงการเล่นเปียโนตามต้นฉบับเดิมกลับเข้ามา
4. อย่าทำแบบนี้อีกเป็นอันขาด]

เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นหนึ่งที่ Paul ยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุผลทางกฎหมายในการขอยกเลิก Beatles partnership (Beatles & Co.) ซึ่งก็เปรียบได้กับการขอแยกวง (ดูรายละเอียดอื่นๆของคดีฟ้องร้องระหว่าง Paul และสมาชิก The Beatles คนอื่นได้ในบทความ “การแยกวง ตอนที่ 2”)





หลังจาก John ตาย Paul เอาอัลบั้ม Let It Be มา remix ใหม่เป็น “Let It Be…Naked” ซึ่งออกวางตลาดในปี 2003 และมีเวอร์ชั่นของเพลง The Long and Winding Road ที่เป็นไปตาม concept เดิมของ Paul เวอร์ชันนี้ใช้ต้นฉบับเทปที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 1969

ส่วนเวอร์ชันที่อัดไว้แรกสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 1969 ถูกนำไปรวมอยู่ในอัลบั้ม Anthology 3 ซึ่งออกมาในปี 1996 ในเวอร์ชันนี้จะมีท่อนแยกที่ Paul ใช้วิธีพูดแทนการร้อง

นอกจากนี้ ก็ยังมีอีก 3 เวอร์ชันของเพลงนี้ที่ทำออกมาโดย Paul McCartney หลังแยกตัวเป็นศิลปินเดี่ยวแล้ว จึงจะไม่ขอพูดถึงในที่นี้


วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

เฉลย Daily Quiz #8




นี่เป็นภาพเขียนที่สมาชิก The Beatles ช่วยกันวาดตอนที่หมกตัวอยู่ในโรงแรม Tokyo Hilton ตลอดช่วงเวลาที่วงไปแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกและครั้งเดียวในญี่ปุ่นที่สนามกีฬามวยปล้ำซูโม่บุโดกังโดยแสดงทั้งหมด 3 รอบ เนื่องจากความคลั่งไคล้ของแฟนเพลง ทำให้ตำรวจห้ามไม่ให้ The Beatles ออกไปปรากฏตัวภายนอกเพื่อความปลอดภัย นี่เป็นเหตุการณ์ปกติช่วง Beatlemania และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้วงตัดสินใจเลิกออกทัวร์ในเวลาต่อมา

ระหว่างที่อยู่ในโรงแรม เพื่อไม่ให้สมาชิกวงเบื่อช่วงพักระหว่างการแสดงแต่ออกไปไหนไม่ได้ ผู้จัดการวง Brian Epstein จัดหาอุปกรณ์การวาดภาพมาให้สมาชิกทั้ง 4 คนช่วยกันวาดภาพเขียนนี้ขึ้นมา โดยใช้เวลาระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. ถึง 2 ก.ค. 1966




โต๊ะที่ใช้ในการวาดภาพ วงกลมที่มีลายเซ็นตรงกลางคือจุดที่วางโคมไฟ

  ภาพเขียนนี้มีชื่อว่า “Images of a Woman” ตรงกลางภาพจะเป็นวงกลมสีขาว (ที่ทั้งสี่คนเซ็นชื่อ) เพราะเป็นจุดที่วางโคมไฟบนผืนผ้าใบ ทั้งสี่คนแบ่งกันวาดคนละมุม


พอจบการแสดงและได้เวลากลับ The Beatles มอบภาพเขียนให้กับนักธุรกิจวงการบันเทิงญี่ปุ่นที่เป็นประธานสมาคม Beatles fan club ของญี่ปุ่น เมื่อเขาตาย ภรรยาของเขาเปิดร้านขายของที่ระลึก The Beatles และประมูลขายภาพเขียนนี้ไปในปี 1989 ผู้ที่ประมูลได้คือ Takao Nishino เจ้าของร้านขายแผ่นเสียง ซึ่งแขวนโชว์ในห้องนั่งเล่นก่อนจะเอาภาพเขียนใส่กล่องไปเก็บไว้ใต้เตียงเพราะห่วงเรื่องความชื้นของอากาศที่มีผลต่อผ้าใบ แต่ก็ตัดสินใจประมูลขายภาพไปในปี 2012 เชื่อว่าน่าจะได้ราคาถึงประมาณ USD 500,000 (ในตอนนั้น)


วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560

Daily Quiz #8




อยากทราบว่าภาพเขียนที่มีลายเซ็นของสมาชิก The Beatles ทั้ง 4 คนนี้มีที่มาเป็นอย่างไรครับ?