วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

ครบรอบ 50 ปี อัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band





ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีของอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles ซึ่งออกวางตลาดเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 1967 ในอังกฤษ และวันที่ 2 มิ.ย. 1967 ในอเมริกา เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 8 ของวงนี้ อะไรทำให้อัลบั้มนี้ถูกยกย่องให้เป็นร็อกอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลโดยนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ สาเหตุหลักน่าจะมาจากอิทธิพลของมันที่มีต่อวงการเพลงในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบ concept album ที่นำไปสู่ยุค album era ที่ศิลปินมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานแทนที่จะต้องถูกพันธนาการด้วยการมุ่งผลิตเพลงในรูปแบบของซิงเกิลที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการนำเสนอโดยมุ่งเน้นเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว การออกอัลบั้มส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการรวมเอาเพลงที่ออกเป็นแผ่นซิงเกิลมาแล้วเข้าด้วยกันแล้วเพิ่มเพลงที่มีคุณภาพด้อยกว่าเพียงเพื่อ“เติม” อัลบั้มให้เต็มเท่านั้น

The Beatles ไม่เห็นด้วยกับการทำแบบนี้เพราะมองว่าเป็นการเอาเปรียบแฟนเพลงที่ต้องเสียเงินซื้อเพลงเดียวกันถึงสองหน นี่ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สองเพลงที่ผลิตขึ้นมาก่อนหน้าและถูกนำไปทำเป็นซิงเกิล Strawberry Fields Forever / Penny Lane ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้ม Sgt. Pepper ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการทำอัลบั้มเพลงป็อปในสมัยนั้นเพราะมีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์วงการเพลงป็อปที่เราจะแยกได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือ“ยุคก่อน” และ “ยุคหลัง” อัลบั้ม Sgt.Pepper ถือเป็นเส้นแบ่งยุคที่เห็นได้อย่างชัดเจน

อัลบั้ม Sgt. Pepper ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของยุคฮิปปี้ที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมและต้องการมองหาสิ่งใหม่ๆให้กับสังคมเป็นยุคแห่งการแสวงหาและไม่ยอมรับคิดแบบเก่าๆหรือที่เรียกกันว่า counterculture มีเพลงซึ่งเนื้อหาถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่าง Lucy In The Sky With Diamonds (ซึ่งย่อได้เป็น LSD ยาเสพติดที่นิยมกันในหมู่ฮิปปี้ในยุคนั้น) หรือ With A Little Help From My Friend (ซึ่งมีท่อนหนึ่งที่บอกว่า “I get high” ซึ่งเป็นคำสแลงหมายถึงกำลังเมายา หรือ “take some tea” ซึ่งอาจจะหมายถึงการพี้กัญชา) หรือแม้แต่ปกอัลบั้มที่ออกแนว psychedelic ที่ฉีกแนวจากปกอัลบั้มป็อปทั่วไป (ความจริงแนวโน้มนี้เริ่มเห็นได้ตั้งแต่อัลบั้มก่อนหน้าคือ Revolver ซึ่งใช้ลายเส้นสีขาวดำ)

แต่หากมองในแง่เนื้อหาของหลายเพลงในอัลบั้มนี้แล้วเรากลับพบว่าเพลงส่วนใหญ่ยังมีเนื้อหาที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เช่น เพลง She’s Leaving Home และเพลง When I’m Sixty-Four ที่ยังมีมุมมองของคนรุ่นเก่าหรือแม้แต่เพลง Fixing Hole ก็เป็นการบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของการใช้ชีวิตของคนทั่วไป เนื้อหาเช่นนี้ดูจะไม่เหมาะกับอัลบั้มที่ออกมาในช่วง Summer of Love ปี 1967 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรมในยุคแห่งการแสวงหาของเหล่าบุปผาชน

สิ่งที่เป็นจุดเด่นอย่างแท้จริงของอัลบั้มนี้คือรูปแบบดนตรีที่แม้นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งจะบอกว่าเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ไม่ใช่เพลงที่เพราะและชวนจดจำมากเท่ากับอัลบั้มก่อนหน้าของ The Beatles ไม่ว่าจะเป็น Rubber Soul หรือ Revolver แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจารณ์เห็นพ้องกันคือความกล้าในการลองและผสมผสานรูปแบบดนตรีหลากหลายเช่น rock, jazz, blues, avant-garde เป็นต้น นับได้ว่าเป็นต้นแบบของ progressive rock ในเวลาต่อมา  มีการใช้เทคนิคการอัดเสียงใหม่ๆ เช่น การตัดต่อเทปให้เล่นวนหรือ loop tape การสร้างเอฟเฟกต์ด้วยการเล่นเทปกลับหลัง การผสมเสียงของเทปจากการอัดสองครั้งที่จังหวะและระดับความถี่เสียง (pitch) ที่แตกต่างกัน

เทคนิคต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ลูกเล่นเท่านั้น แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งเพลงเพราะเป็นการใช้เอฟเฟกต์เพื่อให้เกิดอิทธิพลต่ออารมณ์ของผู้ฟังที่สอดคล้องกับเนื้อหาของเพลง มีรูปแบบที่คล้ายกับการสร้างงานศิลปะแนว avant-garde ซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคนั้น โดยเฉพาะเทคนิคแบบ collage ที่สร้างงานศิลปะขึ้นใหม่จากการผสมผสานและดัดแปลงงานศิลปะแบบเก่าเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ Sgt. Pepper ยังเป็นอัลบั้มแรกที่ไม่มีช่องว่างระหว่างแต่ละแทร็ก เมื่อแทร็กหนึ่งจบจะต่อเนื่องไปเริ่มอีกแทร็กหนึ่งทันทีโดยไม่มีช่วงหยุดระหว่างเพลง ทำให้อารมณ์ในการฟังเพลงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่สะดุด John Lennon เคยคิดที่จะใช้เทคนิคนี้ในอัลบั้ม Revolver แต่ก็ไม่ได้ทำ

เพลงที่เป็น highlight ของอัลบั้มนี้คือเพลง A Day In The Life ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มต่อจากแทร็กเพลงซ้ำ Sgt. Pepper (Reprise) เพื่อให้สะท้อนถึงจุดจบของเรื่องราวในจินตนาการและการกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพลงนี้เป็นเพลงที่ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อน ประกอบด้วยท่อนหลัก 4 ท่อนและท่อน bridge ท่อนที่แปลกและค่อนข้าง abstract คือช่วงที่บรรเลงด้วยออร์เครสตราใช้เครื่องดนตรี 40 ชิ้นแบบให้อิสระกับนักดนตรีในการไล่โน้ตจากต่ำไปสูงซึ่งมีความยาวทั้งหมด 24 ห้องดนตรี สอดแทรกด้วยท่อนกลางที่ Paul เป็นคนแต่งและร้อง ส่วนที่เหลือของเพลงแต่งโดย John จากเรื่องราวที่เขาอ่านพบในหนังสือพิมพ์ เนื้อเพลงช่วงก่อนเข้าสู่การบรรเลงแบบอิสระของออร์เครสตรามีข้อความว่า “…I love to turn you on..” ซึ่ง BBC ในสมัยนั้นมองว่าหยาบคายเกินไปเพราะสื่อถึงเรื่องเพศ เป็นเหตุให้เพลงนี้ถูกแบนไม่ให้ออกอากาศ

เพลงจบลงด้วยคอร์ด E major ที่ดังอยู่เกือบหนึ่งนาทีเต็ม คอร์ดนี้เล่นด้วยเปียโน 3 หลังผสมด้วยเสียงของ harmonium (ออร์แกนโบราณชนิดหนึ่ง) และใช้เทคนิคในการอัดที่ช่วยให้ลากเสียงคอร์ดสุดท้ายออกไปนานถึงกว่า 40 วินาที

มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเพลงนี้ว่า ในตอนแรกเพลงปิดอัลบั้มควรจะเป็น Sgt. Pepper (Reprise) เพราะจะเป็นไปตาม concept ที่ให้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยวง Sgt.Pepper แต่เมื่อโปรดิวเซอร์ George Martin ได้ฟังคอร์ดสุดท้ายของเพลง A Day in the Life แล้วเขาคิดว่าเสียงทอดยาวของคอร์ดนี้ควรจะเป็นคอร์ดสุดท้ายของอัลบั้มนี้ ไม่มีอะไรจะมาแทนมันได้

แม้แต่ปกอัลบั้มนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย อย่างแรกที่มักพูดถึงกันคือการสื่อด้วยภาพของวงในจินตนาการ Sgt. Pepper ที่มีการแต่งกายรวมทั้งการไว้ทรงผมและหนวดเคราที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพลักษณ์ “mop tops” หรือ “สี่เต่าทอง” ที่มีสัญลักษณ์ปรากฏบนปกอัลบั้มด้วยหุ่นขี้ผึ้ง (จากพิพิธภัณฑ์ Madame Tussauds) ของสมาชิกทั้งสี่คนที่ถูกเบียดให้ไปยืนอยู่ด้านข้าง การไว้หนวดครึ้มและการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดสื่อถึงวัฒนธรรมฮิปปี้ที่กลายเป็นกระแสนิยมในยุคนั้น ภาพหมู่ของบุคคลสำคัญประกอบด้วยภาพถ่าย 57 ภาพและภาพหุ่นขี้ผึ้งอีก 9 ภาพ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญหลากหลายจากวงการต่างๆที่มีทั้งนักแสดง นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา กูรูลัทธิทางศาสนา นักเขียน นักร้องและนักแสดง ปกอัลบั้มนี้ได้รับรางวัล Grammy Award for Best Album Cover ในปี 1968  นอกจากนี้ ยังมีการนำเนื้อเพลงทุกเพลงมาพิมพ์ไว้บนปกหลังซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอัลบั้มเพลงร็อก

แม้ว่านักวิจารณ์บางส่วนจะบอกว่าคุณภาพโดยรวมของเพลงในอัลบั้มนี้อาจจะสู้อัลบั้มก่อนหน้าอย่าง Rubber Soul หรือ Revolver ไม่ได้ และลูกเล่นหลายอย่างในอัลบั้มนี้ The Beatles เคยลองมาแล้วในอัลบั้ม Rubber Soul และ Revolver แต่ในแง่ของความสำคัญทางประวัติศาสตร์วงการเพลงและด้านวัฒนธรรมคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความยิ่งใหญ่ของอัลบั้มนี้ ทั้งในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกการทำ concept album (แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบ) และความกล้าในการลองรูปแบบดนตรีใหม่ๆตลอดจนเทคนิคการอัดเสียงที่ต้องถือว่าเป็น state of the art ในยุคนั้น

ในแง่ของการแต่งเพลงที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในอัลบั้มนี้ เห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ Rubber Soul โดยเฉพาะการเล่นคำในลักษณะบทกวีในเพลงอย่าง Norwegian Wood หรือ In My Life แต่ในแง่ของการทดลองใช้เสียงดนตรีและเทคนิคการอัดเสียงที่ท้าทายมาเริ่มอย่างจริงจังในอัลบั้ม Revolver ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ซึ่งปรากฏให้เห็นในสองอัลบั้มนี้ มาผสมผสานกันอย่างลงตัวในอัลบั้ม Sgt. Pepper

ไม่น่าเชื่อว่า Geoff Emerick วิศวกรเสียงมือใหม่ที่เริ่มทำงานในอัลบั้ม Revolver ตอนนั้นอายุแค่ 19 แต่ก็อาจจะเพราะความเยาว์วัยก็ได้ที่ทำให้กล้าลองของใหม่ๆ ยิ่งได้รับการกระตุ้นจาก The Beatles ที่คะยั้นคะยอให้ Geoff ทดลองทำเสียงกระตุ้นโสตประสาทในบรรยากาศภายใต้การเสพยาของสมาชิกวงซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องนี้ในยุคแห่งการแสวงหาของพวกฮิปปี้ในช่วงนั้น

Geoff บอกว่าสมาชิกวงบอกเขาตอนเริ่มทำอัลบั้มนี้ว่า พวกเขาต้องการให้เสียงของดนตรีแต่ละชิ้นที่ออกมาฟังไม่เหมือนกับเสียงตามธรรมชาติของมัน พูดง่ายๆคือพวกเขาต้องการให้เสียงที่ได้จากเทคนิคที่ใช้ในสตูดิโอเป็นองค์ประกอบสำคัญของเพลงนั้นๆด้วย

สิ่งที่น่าจะทำให้อัลบั้ม Sgt. Pepper ดู “ขลัง” กว่าในสายตาของคนทั่วไปเป็นเพราะเทคนิคในการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นการแปลงโฉม The Beatles เป็นวงในจินตนาการ Sgt. Pepper การสร้างกระแสด้วยการปิดตัวทำอัลบั้มนี้นานถึง 5 เดือน ในขณะที่ Revolver ใช้เวลาเพียง 2 เดือนครึ่ง

อีกเหตุผลหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ได้ให้การต้อนรับ Revolver ดีนักตอนที่ออกมาอาจจะมาจากคำพูดที่ไม่ระวังปากของ John ที่บอกว่า “…We’re more popular than Jesus now…” ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักในอเมริกา

โดยสรุปก็คือ หากมองในแง่พัฒนาการด้านดนตรี Revolver น่าจะถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในทิศทางการทำดนตรีของ The Beatles แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดนตรี  Sgt. Pepper ช่วยยกระดับความเป็นศิลปะของดนตรีร็อกในสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกอย่างแท้จริง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น