วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Lennon-McCartney คู่นักแต่งเพลง หยิน-หยาง ของวง The Beatles




สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เวลาพูดถึง The Beatles คือมนต์เสน่ห์ของเพลงที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง John Lennon และ Paul McCartney แม้ว่าหลังจากแยกวงกันแล้ว ทั้งคู่จะยังสามารถผลิตผลงานเพลงเดี่ยวคุณภาพดีออกมาได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่อาจเทียบได้กับผลงานตอนที่ยังเป็น The Beatles เราลองมาดูกันครับว่าอะไรคือที่มาของความพิเศษซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของทั้งคู่

ในแง่ของการแต่งทำนองเพลง John จะมีสไตล์ที่ค่อนข้างราบเรียบ ไม่มีการเปลี่ยนระดับเสียง (pitch) มากเหมือนกับ Paul จนบางคนบอกว่าบางครั้งฟังเหมือนกำลังบ่นๆอยู่ ส่วนหนึ่ง อาจจะมาจากการที่ John ให้ความสำคัญกับเนื้อร้องมากเป็นพิเศษ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องการให้เนื้อเพลงของเขาเป็นเหมือนบทกวีที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของ John ที่รักการแต่งโคลงกลอนมาตั้งแต่ยังเด็ก ดังจะเห็นได้จากเพลง Strawberry Fields Forever, In My Life, Across the Universe, Norwegian Wood, I Am the Walrus

ต่างกับ Paul ที่มีพรสวรรค์ด้านการคิดทำนองเพลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเมโลดี้ของ Paul เป็นไปตามทฤษฎีดนตรีมากกว่า คือจะมีการเรียบเรียงเสียงประสาน (harmonization) ที่เป็นไปตามหลักการทางดนตรี ทำให้ทำนองที่ออกมาฟังรื่นหูและติดหูง่ายกว่า ตัวอย่างเช่นเพลง Here, There and Everywhere, The Long and Winding Road, Eleanor Rigby, The Fool on the Hill, Penny Lane

สำหรับด้านเนื้อร้อง John มักจะเล่าเรื่องราวจากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่เขาต้องการสื่อจากประสบการณ์ชีวิตหรือความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง กามารมณ์ และการเรียกร้องสันติภาพ เขาชอบการเล่นคำและสำบัดสำนวน ชอบใช้คำพูดเสียดสีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน

ส่วน Paul ชอบแต่งเพลงจากมุมมองบุคคลที่สามโดยมักเป็นเรื่องรักๆใคร่ๆ จากจินตนาการเป็นส่วนใหญ่ เพลงของ Paul มักเป็นเพลงที่มองโลกในแง่ดี เขาชอบให้เพลงมีดราม่าและสร้างอารมณ์ให้กับผู้ฟัง ในขณะที่เพลงของ John จะทีเล่นทีจริงและใช้อารมณ์ขันในเชิงเสียดสี




ในด้านบุคลิกภาพแล้ว ทั้งคู่มีลักษณะที่ตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ Paul มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เขามักจะพกสมุดบันทึกติดตัวเพื่อคอยจดเนื้อร้องหรือการเดินคอร์ด (chord changes) ที่นึกขึ้นได้ ผิดกับ John ที่ดูสับสนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เขาเป็นประเภทที่ต้องคอยขอกระดาษและปากกาเพื่อจดไอเดียที่ผุดขึ้นมาในสมอง

Paul พูดจาสุภาพเหมือนนักการทูตและเป็นคนที่มีทักษะในการสื่อความที่ดี ส่วน John พูดจาไม่ค่อยระวังปากและบางทีก็ดูหยาบคายกับคู่สนทนา Paul เป็นคนใจเย็นที่มีความอดทน เขาจะรู้เสมอว่าตัวเองต้องการอะไรและพร้อมที่จะทุ่มเทเวลาให้กับมัน เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบฟังคำติเตียน ตรงกันข้ามกับ John ที่ไม่ค่อยมีความอดทนและเบื่อง่าย มักจะต้องการทำอะไรใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์และยินดีรับฟังความเห็นที่แตกต่าง

คงไม่ผิดนัก ถ้าจะต้องบอกว่าทั้งคู่เติมเต็มในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งขาด John ขาดวิธีคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความอดทนแบบ Paul ในขณะที่ Paul ได้ประโยชน์จากอารมณ์วูบวาบแบบศิลปินและวิธีคิดนอกกรอบของ John

มีนักวิจารณ์บางคนเรียกความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ของทั้งคู่ว่า “co-opetition” หรือการแข่งขันที่นำไปสู่ผลงานสร้างสรรค์ เมื่อฝ่ายหนึ่งคิดไอเดียหรือทำผลงานออกมาชิ้นหนึ่ง อีกฝ่ายจะถูกกระตุ้นให้พยายามแข่งขันเพื่อสร้างผลงานของตัวเองออกมาบ้าง ตัวอย่างในเรื่องนี้จะเห็นได้จากตอนที่ John แต่งเพลง Strawberry Fields Forever เพื่อเล่าถึงเรื่องราวในอดีตของตัวเองในเมือง Liverpool กระตุ้นให้ Paul แต่งเพลงในทำนองเดียวกันคือ Penny Lane ออกมาบ้าง หรือตัวอย่างการแต่งเนื้อร้องเพลง Lucy in the Sky with Diamonds ด้วยการเล่นคำเพื่อบรรยายภาพในจินตนาการ เมื่อ Paul เริ่มด้วยคำว่า cellophane flowers และ newspaper taxis John ก็ไม่ยอมน้อยหน้าด้วยการคิดคำว่า kaleidoscope eyes  ขึ้นมาบ้าง Paul บอกว่าเขาทั้งสองมักจะแข่งกันแลกเปลี่ยนไอเดียเกี่ยวกับเนื้อร้องในลักษณะนี้อยู่ตลอดเวลา หรือแม้แต่การผสมผสานเพลงที่ต่างคนต่างแต่งเข้าด้วยกัน เช่นในเพลง A Day in the Life ซึ่งท่อนแยกในส่วนที่ Paul เป็นคนร้อง ท่อนที่เริ่มว่า “…Woke up, fell out of bed…” ความจริงเป็นอีกเพลงที่ Paul แต่งไว้ก่อนแล้ว แต่ก็สามารถนำมาผสมผสานเข้าในเพลงที่ John แต่งได้อย่างลงตัว




George Martin โปรดิวเซอร์ทุกสตูดิโออัลบั้มของ The Beatles ยกเว้น Let It Be เคยตั้งข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่เทียบได้กับนักกีฬาในทีมชักเย่อที่ช่วยกันดึงเชือก ความตึงของเชือกระหว่างทั้งคู่เป็นสิ่งที่สร้างความแน่นแฟ้นให้กับความสัมพันธ์นี้ การที่ทั้งคู่เริ่มต้นมาจาการต้องร่วมเล่นดนตรีและร้องเพลงในคลับแบบทรหดในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งวงน่าจะเป็นที่มาสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ หรือพูดง่ายๆคือทั้งคู่รู้ใจกันดีจากการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกันมาในอดีต

จากการผสมผสานกันอย่างลงตัวของความแตกต่างกันของทั้งคู่นี้เองที่เพิ่มมนต์เสน่ห์ให้กับผลงานร่วม Lennon-McCartney ดังความเห็นของ John ในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร Playboy เมื่อปี 1980 ที่ว่า  "He provided a lightness, an optimism, while I would always go for the sadness, the discords, the bluesy notes…” (เขานำเสนอด้านสว่าง การมองโลกในแง่ดี ในขณะที่ผมชอบที่จะพูดถึงความเศร้า ความขัดแย้ง ใช้ตัวโน้ตแนวดนตรี blues…)

เมื่อคำรมคมคายและทัศนคติแดกดันของ John ที่แสดงออกมาในทางดนตรีผสมผสานเข้ากับความละมุนละไมและทำนองเสนาะหูของ Paul สิ่งที่ได้ก็คือผลงานการประพันธ์เพลงซึ่งคงเอกลักษณ์ที่ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงแม้จะผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น