วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประวัติของวง ตอนที่ 2


ถูก “ค้นพบ” โดย Brian Epstein

หลังหมดสัญญาการแสดงในเยอรมนี The Beatles กลับมา Liverpool และเล่นประจำที่ Cavern Club ทุกคืน ที่นี่เองที่วงได้พบกับ Brian Epstein ซึ่งประทับใจในความพิเศษบางอย่างของวงนี้ Epstein ตามทาบทามทางวงอยู่หลายเดือนก่อนพวกเขาจะตกลงทำสัญญาให้เขาเป็นผู้จัดการวงในเดือน ม.ค. 1962



Epstein ต้องหาทางเจรจาเลิกสัญญากับ Bert Kaempfert โปรดิวเซอร์คนก่อนและ Polydor Records ต้นสังกัดเดิมของวง เมื่อ The Beatles ไป audition กับ Decca Records ค่ายนี้ปฏิเสธโดยบอกว่าหมดยุคของวงที่เล่นกีตาร์แล้ว นี่น่าจะเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น 3 เดือน พวกเขาก็ตกลงทำสัญญากับโปรดิวเซอร์ George Martin เข้าสังกัด Parlophone ของค่าย EMI
 

Brian Epstein ขณะไปเป็นแมวมองดูตัว The Beatles 
ที่ The Cavern




อิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของวงในช่วงแรกที่เกิดจาก George Martin

George Martin
ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกต่อวงที่เกิดขึ้นจาก George Martin คือการเปลี่ยนมือกลอง เนื่องจาก Martin เห็นว่าฝีมือตีกลองของ Pete Best ยังไม่ดีพอที่จะใช้ในการบันทึกเสียงได้ มีการใช้มือกลองชั่วคราวอยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่ทางวงจะได้ Ringo Starr มาเป็นมือกลองแทนในกลางเดือน ส.ค. 1962 โดย The Beatles ก็เห็นดีเห็นงามด้วย แต่อย่างไรก็ตาม Martin ยังคงไม่มั่นใจในฝีมือของ Ringo ในช่วงแรกนัก จึงใช้มือกลองอาชีพ Andy White แทนในการบันทึกเสียงในเพลง Love Me Do, Please Please Me และ P.S. I Love You โดยให้ Ringo เล่น tambourine แทน



Pete Best อ้างว่าเขาถูก “ไล่ออก” จากวงเพราะสมาชิกคนอื่นอิจฉาที่เขาเก่งเรื่องจีบผู้หญิงมากกว่าคนอื่น แต่หากใครได้มีโอกาสฟังฝีมือการตีกลองของเขาใน 5 เพลงจากการ audition ที่ล้มเหลวของวงกับค่ายเพลง Decca ที่รวมไว้ในซีดี Beatles Anthology 1 ก็อาจจะลงความเห็นว่า The Beatles คิดถูกแล้วในตอนนั้น

George Martin ยังมีอิทธิพลทางดนตรีกับ The Beatles อีกมากมายซึ่งจะพูดถึงในประวัติช่วงต่อไปของวงและในบทความเรื่องนี้โดยเฉพาะ

Beatlemania และ British Invasion

หลังจาก The Beatles ออกอัลบั้ม Please Please Me ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของพวกเขาในอังกฤษในเดือน มี.ค. 1963 ก็เกิดกระแสความคลั่งไคล้ของบรรดาแฟนๆโดยเฉพาะสาวๆที่สื่อในอังกฤษเรียกว่า Beatlemania การออกทัวร์แต่ละครั้งในปีนั้นสร้างความลำบากใจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องคอยรักษาความสงบเรียบร้อย บางครั้งถึงขนาดต้องใช้สายฉีดน้ำแรงสูงเพื่อสกัดฝูงชน

Please Please Me ติดอัลบั้มอันดับหนึ่งอยู่นานถึง 30 สัปดาห์ก่อนจะถูกอัลบั้มที่สองของวงคือ With The Beatles เบียดตกจากตำแหน่ง อัลบั้มนี้ขายได้ถึง 5 แสนแผ่นภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ อัลบั้มนี้มีเทคนิคการอัดเสียงที่ดีกว่าอัลบั้มแรกที่เกือบจะเหมือนกับการบันทึกสดเพราะแทบจะไม่มีการอัดซ้ำเลย นักวิจารณ์ดนตรีเริ่มให้ความสนใจกับผลงานของ The Beatles หนังสือพิมพ์เริ่มลงบทวิเคราะห์ที่จริงจังเกี่ยวกับดนตรีของวง ผู้เขียนโน้ตบนปกแผ่นเสียง Tony Barrow ใช้คำว่า fabulous foursome ในการเรียกวงนี้ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเล่นของวงว่า The Fab Four

ความสำเร็จของ The Beatles ในอังกฤษไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นความสำเร็จในอเมริกาในทันทีทันใดเนื่องจากCapitol Records ซึ่งเป็นบริษัทในสังกัด EMI ไม่ให้ความสนใจกับดนตรีของวงนี้ การเจรจากับค่ายเพลงอิสระอื่นๆก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก ร้อนถึง Brian Epstein ต้องลงทุนไปกับมาร์เก็ตติ้งแคมเปญเพื่อให้ดีเจช่วยเปิดเพลงของวงตามสถานีวิทยุซึ่งทำให้เพลงของวงเริ่มเป็นที่รู้จักและเริ่มกระจายไปทั่วอเมริกา กระแสความนิยมนี้ทำให้ Capitol เปลี่ยนใจรีบออกแผ่นซิงเกิล I Want To Hold Your Hand แผ่นนี้ขายได้ถึงหนึ่งล้านแผ่นและกลายเป็นเพลงแรกที่ขึ้นถึงอันดับหนึ่งในอเมริกาในเดือน ม.ค. 1964


กระแสความนิยมนี้เองทำให้ The Beatles ถูกเชิญไปออกรายการ The Ed Sullivan Show เป็นครั้งแรกในวันที่ 9 ก.พ. 1964 ซึ่งประมาณกันว่ามีผู้ชมกว่า 73 ล้านคนซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดจนถึงขณะนั้น แม้ว่าจะยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากการออกรายการในครั้งแรก แต่ก็ไม่สามารถหยุดกระแสความคลั่งไคล้ The Beatles ได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของ Beatlemania ที่เกิดขึ้นในการแสดงสดครั้งแรกในอเมริกาที่ Washington Coliseum วงทำการแสดงสดอีก 2 ครั้งที่ Carnegie Hall ในนิวยอร์ก ก่อนจะออกรายการ The Ed Sullivan Show เป็นครั้งที่ 2 ในฟลอริดาซึ่งก็มีจำนวนผู้ชมทางโทรทัศน์ที่ประมาณว่าสูงถึง 70 ล้านคน ก่อนจะบินกลับอังกฤษ









Beatlemania ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดของ British Invasion ซึ่งคือกระแสความนิยมดนตรีและวัฒนธรรมจากเกาะอังกฤษที่บุกขึ้นฝั่งอเมริกา เริ่มต้นจากการที่เริ่มมีการผสมผสานแนวดนตรีแบบ rock and roll และ blues จากอเมริกาเข้ากับแนวดนตรีสไตล์อังกฤษ ปี 1962 เป็นปีแรกที่ศิลปินจากอังกฤษเริ่มมีเพลงฮิตติดอันดับ Hot 100 ในอเมริกา เพลง Telstar ของวง The Tornados เป็นเพลงแรกของศิลปินอังกฤษที่ขึ้นถึงอันดับหนึ่งของ US Hot 100

หากท่านใดต้องการจะดูคลิปการแสดงสดครั้งสำคัญๆของ The Beatles ในช่วงที่ทางวงยังตระเวนทัวร์ในหลายประเทศ ก็เชิญตามลิงก์นี้ไปได้เลยครับ

3 ยุคขอThe Beatles

หากจะลองนำอัลบั้มของวงนี้มาแบ่งเป็นยุคๆแล้วก็พอจะแบ่งได้เป็น 3 ช่วง (หมายเหตุ: จัดแบ่งจากอัลบั้ม original studio albums และ singles ที่ออกในอังกฤษเท่านั้น ไม่รวมอัลบั้มที่ออกในอเมริกาซึ่งมักใช้วิธีผสมเพลงจากหลายอัลบั้มที่ออกไปแล้วในอังกฤษมารวมกันเป็นอัลบั้มใหม่)


ยุคแรก คืออัลบั้มก่อนและระหว่างที่เกิดกระแส Beatlemania ช่วงนี้ออกมาทั้งหมด 7 อัลบั้ม ได้แก่


Please Please Me (มี.ค. 1963) รวมซิงเกิล From Me To You (side A) / Thank You Girl (side B) และ She Loves You / I'll Get You ซึ่งออกมาในระยะเวลาใกล้ๆกัน





With The Beatles (พ.ย. 1963) รวมซิงเกิล I Want To Hold Your Hand / This Boy และแผ่น EP (Extended Play ซึ่งจุเพลงได้มากกว่าซิงเกิลปกติ) Long Tall Sally / I Call Your Name / Slow Down / Matchbox





A Hard Day’s Night (ก.ค. 1964)







Beatles For Sale (ธ.ค. 1964)






Help! (ส.ค. 1965) รวมซิงเกิล Ticket To Ride / Yes It Is และ Help! / I'm Down



Rubber Soul (ธ.ค. 1965) รวมซิงเกิล We Can Work It Out / Day Trip
 
 
 



Revolver (ส.ค. 1966) รวมซิงเกิล Paperback Writer / Rain





[หมายเหตุ อัลบั้มและซิงเกิลที่ออกมาในครั้งแรกก่อนหน้าอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ในปี 1967 ระบบเสียงจะเป็นโมโนทั้งหมด เวอร์ชั่นที่เป็นสเตอริโอจะเป็นเวอร์ชั่นที่นำมา remaster ในภายหลัง]



แม้ว่าทั้ง 7 อัลบั้มแรกจะเป็นอัลบั้มที่ออกมาในช่วงที่กระแส Beatlemania ยังแรงอยู่ แต่เราจะเห็นได้ถึการเปลี่ยนแปลงในทิศทางดนตรีที่ฉีกแนวออกจากเพลงเอาใจวัยรุ่นนับตั้งแต่อัลบั้ม Rubber Soul The Beatles เริ่มใช้เครื่องดนตรีอื่นนอกเหนือจากกีตาร์ ไม่ว่าจะเป็นซีตาร์ที่ George Harrson ใช้ในเพลง Norwegian Wood การใช้ fuzz bass (เบสเหยียบ) เพื่อสร้าง sound effect ในเพลง Think For Yourself เสียง harpsichord ที่ George Martin เล่นในเพลง In My Life อิทธิพลของดนตรี folk เริ่มมีให้เห็นนอกเหนือจากแนว rock and roll เพียงอย่างเดียว

เพลงที่มีเนื้อหาค่อนข้างหนักอย่าง Nowhere Man, Norwegian Wood และ In My Life ที่เป็นไอเดียของ Lennon ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบดนตรีของวง George Harrison เริ่มแสดงให้เห็นถึงแววความสามารถในการแต่งเพลงจากผลงาน 2 เพลงในอัลบั้มนี้ นั่นคือ Think For Yourself และ If I Needed Someone

หาก Rubber Soul จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง อัลบั้มถัดมา Revolver ก็เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีของ The Beatles อัลบั้มนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้พัฒนาจากวงที่เล่นเพลงแนววัยรุ่นไปเป็นวงที่มีความมั่นใจในตัวเองจนกล้าพอที่จะสร้างแนวดนตรีที่เป็นตัวของตัวเองและไม่จำเป็นต้องเอาใจตลาด พวกเขาใช้เวลาทั้งหมด 300 ชั่วโมงในการผลิตอัลบั้มซึ่งมากกว่าอัลบั้ม Rubber Soul ถึง 3 เท่าและเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการดนตรีป๊อป อัลบั้มนี้เด่นด้วยการเขียนเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้งมากขึ้นกว่าอัลบั้มก่อนๆ ดนตรีที่ทำออกมาก็เริ่มแทรกด้วยอิทธิพลจากแนวดนตรีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องสายแบบดนตรีคลาสสิกไปจนถึง psychedelic rock มีการลองใช้เทคนิคการอัดเสียงที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆในช่วงเวลานั้น

สมาชิกแต่ละคนมีการพัฒนาการในตัวเองมากกว่าอัลบั้มที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในฐานะนักแต่งเพลงของ George Harrison ซึ่งเพลงเสียดสีการเมือง Taxman ของเขาเป็นแทร็กแรกของอัลบั้ม อีก 2 เพลงของเขาในอัลบั้มนี้ก็มีความแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเชิญปรัชญาอย่าง I Want To Tell You หรือเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีอินเดียอย่าง Love You To

ส่วน John ก็เริ่มที่สะท้อนด้านมืดออกมามากขึ้นซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการใช้ยาเสพติดที่เริ่มแพร่หลายในยุคทศวรรษที่ 60 อิทธิพลจากวัฒนธรรมนี้แสดงออกมาอย่างค่อนข้างชัดเจนในเพลง Doctor Robert, She Said She Said และ Tomorrow Never Knows

Paul แม้จะยังคงเน้นแนวเพลง ballad ที่ถนัด แต่ก็พัฒนาและยกระดับการเขียนเนื้อเพลงที่มีคุณภาพไม่หวานแหววเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น Eleanor Rigby ที่น่าจะจัดเป็นเพลงที่มีเนื้อหาหนักแน่นที่สุดเท่าที่เขาเคยแต่งมา Here, There and Everywhere ซึ่งกลายเป็นเพลง ballad ระดับอมตะอีกเพลงหนึ่ง แม้แต่เพลงเร็ว เขาก็ทำได้ดี เช่นเพลงที่คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักกันแพร่หลายมากอย่าง For No One หรือ Got To Get You Into My Life

อัลบั้ม Revolver ออกมาหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ทางวงจะออกทัวร์เป็นครั้งสุดท้ายซึ่งไปจบลงที่การแสดงคอนเสิร์ตเชิงพาณิชย์ครั้งสุดท้ายที่ Candlestick Park ใน San Francisco ในวันที่ 29 ส.ค. 1966 ปิดฉากการออกทัวร์แบบแทบจะไม่มีหยุดตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าในคอนเสิร์ตช่วงหลัง The Beatles ไม่ได้เล่นเพลงจากอัลบั้ม Revolver เลยเพราะผลงานในอัลบั้มนี้เป็นดนตรีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยเทคนิคการบันทึกเสียงที่ไม่สามารถจะทำได้ในการแสดงสด นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งนอกเหนือจากความยากลำบากของการร้องระหว่างแสดงสดที่ต้องแข่งกับเสียงกรีดร้องที่ไม่มีวันหยุดของบรรดาแฟนๆ

The Beatles ได้มาถึงจุดที่เริ่มเบื่อหน่ายกับ Beatlemania และต้องการใช้เวลาในสตูดิโอในการสร้างผลงานให้มากขึ้น เมื่อปลอดจากภาระในการต้องออกตระเวนทัวร์ ทางวงจึงมีเวลาที่จะทุ่มเทให้กับการสร้างผลงานอัลบั้มต่อไปคือ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ซึ่งทางวงต้องการให้เป็นผลงานที่แตกต่างจากทุกอย่างที่พวกเขาเคยทำมา


[ติดตามอ่านต่อในตอนที่ 3 ครับ]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น