วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประวัติของวง ตอนที่ 3

 

ยุคที่ 2 ยุคฮิปปี้และอิทธิพลของยาเสพติดต่อการแต่งเพลงของ The Beatles


ผลงาน 2 อัลบั้มของวงในยุคนี้เกิดจากไอเดียของ Paul ที่ต้องการให้วงทำอะไรที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ เขามีความรู้สึกว่าวงไม่ใช่ Mop Top (หรือที่ในบ้านเราเรียกกันว่า “สี่เต่าทอง”) อีกต่อไปแล้ว พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดความอ่านมากขึ้น พวกเขาไม่ต้องการสร้างผลงานเพียงเพื่อเอาใจกลุ่มวัยรุ่นอีกต่อไป และเพื่อให้สมาชิกคนอื่นรู้สึกอิสระอย่างเต็มที่ไม่ติดกับภาพเดิมๆของ The Beatles เขาเสนอว่าพวกเขาควรจะใช้ร่างสมมุติหรือ alter ego เป็นตัวแทนพวกเขาในอัลบั้มนี้ นับเป็นเรื่องน่าแปลกที่อาจจะมองได้ว่าการสร้าง alter ego ขึ้นมากลับทำให้พวกเขาสามารถแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงออกมาได้

ความคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเมื่อตอนที่พวกเขาเริ่มต้นทำสตูดิโออัลบั้มที่ 8 ของ The Beatles มันเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาทำอัลบั้มนี้ไปได้ครึ่งทางแล้ว โดยไอเดียเรื่อง alter ego เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางกลับจากการพักผ่อนในแอลจีเรียของ Paul ตอนปลายปี 1966 แต่มาตกผลึกเต็มที่ในตอนต้นปี 1967 โดย Paul เสนอไอเดียนี้กับ George Martin ซึ่งชอบแนวคิดนี้ จากนั้นเป็นต้นมา แนวทางการทำอัลบั้มนี้ก็เปลี่ยนไป

นี่จึงเป็นที่มาของชื่อวงในจินตนาการว่า Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band และที่ใช้ชื่อยาวแบบนี้เพราะตอนนั้นกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่วงดนตรีที่เกิดขึ้นมามักจะใช้ชื่อยาวๆกัน ตัวอย่างเช่น Dr. Hook and the Medicine Show หรืออะไรทำนองนั้น

ความจริง อัลบั้มนี้ไม่ใช่อัลบั้มแรกที่ The Beatles เริ่มเปลี่ยนแนวดนตรีของพวกเขา ความเปลี่ยนแปลงเริ่มจะเห็นได้ตั้งแต่อัลบั้ม Rubber Soul ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มผสมผสานแนวดนตรีอื่นๆนอกจากป็อป เช่น โฟล์คมิวสิคหรือโซลเข้ามาซึ่งสะท้อนอยู่ในชื่ออัลบั้ม Rubber Soul ยังเป็นอัลบั้มแรกที่พวกเขาใช้เวลาในการผลิตแบบต่อเนื่องอย่างมีเอกภาพ นับเป็นต้นแบบของ concept album ที่เริ่มใช้ในอัลบั้ม Sgt. Pepper ในเวลาต่อมา

แนวทางเหล่านี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอัลบั้มต่อมาคือ Revolver ซึ่งมีการใช้เทคนิคการอัดเสียงที่แปลกใหม่อย่าง tape loop เพื่อให้เล่นวนดนตรีในบางช่วงและการเล่นเทปกลับหลังในเพลงแนว psychedelic อย่าง Tomorrow Never Knows หรือการใช้ string octet สไตล์คลาสสิกในเพลง Eleanor Rigby นวัตกรรมการบันทึกเสียงต่างๆเหล่านี้กลายเป็นมาตรฐานใหม่เริ่มนำไปใช้กันในวงการ

คราวนี้เรามาลองดูสองอัลบั้มที่เป็นผลงานของ The Beatles ในยุคที่อบอวลด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมของบุปผาชนในช่วงนั้นกันครับ




Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (มิ.ย. 1967) รวมซิงเกิล Strawberry Fields Forever / Penny Lane (เป็น Double A-side single)



ปกอัลบั้ม Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band ที่ออกมาครั้งแรกในระบบเสียง mono

แม้ว่าอัลบั้มนี้จะไม่ใช่อัลบั้มในแบบ concept album อย่างแท้จริงเพราะไม่ได้มีธีมหลักในการนำเสนอแนวคิดใดๆอย่างชัดเจน (มีเพียงแทร็กเปิดอัลบั้มซึ่งสร้างบรรยากาศให้ฟังดูเหมือนการแสดงสดและเพลงก่อนสุดท้ายซึ่งมีชื่อเดียวกับอัลบั้มบวกกับเพลง With A Little Help From My Friends เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับวงในจินตนาการ Sgt. Pepper) แต่ก็ต้องถือเป็นต้นแบบของอัลบั้มประเภทนี้เพราะใช้วงในจินตนาการอย่าง Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ในการบอกเล่าเรื่องราวหลากหลายในอัลบั้ม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอในรูปแบบนี้ในวงการเพลงป็อป จึงถือเป็นการบุกเบิกอย่างแท้จริง


ปกซิงเกิล Strawberry Fields Forever และ Penny Lane ออกมาในรูปแบบ Double A-side single

สองเพลงแรกที่เกิดจากไอเดียนี้คือเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเมือง Liverpool ได้แก่ เพลง Strawberry Fields Forever และ Penny Lane แต่เนื่องจากเหตุผลเชิงพาณิชย์ EMI ต้องการให้ออกสองเพลงนี้มาในรูป double A-side single สองเพลงนี้จึงถูกตัดออกไปจากอัลบั้ม ซึ่งโปรดิวเซอร์ George Martin ยอมรับในภายหลังว่านับเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง

อิทธิพลสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้ Paul เกิดไอเดียเกี่ยวกับอัลบั้มนี้คือการที่เขาได้ฟังอัลบั้ม Pet Sounds ของวง The Beach Boys ซึ่งมี Brian Wilson เป็นหัวหน้าวง ในอัลบั้ม Pet Sounds Wilson ผสมผสานการใช้วงออร์เครสตราขนาดใหญ่ในสไตล์ที่โปรดิวเซอร์ Phil Spector (ที่เรียกกันว่า Wall of Sound หรือ Big Sound) นิยมใช้เข้ากับแนวเพลงในอัลบั้ม Rubber Soul ซึ่ง Wilson ชื่นชอบ Paul ชอบอัลบั้ม Pet Sounds และแนวการผลิตอัลบั้มนี้ของ Wilson ที่มีความสามารถทั้งทางด้านการแต่งเพลงและเรียบเรียงเสียงประสาน George Martin เชื่อว่าไอเดียในการทำอัลบั้ม Sgt. Pepper เกิดจากอิทธิพลจากอัลบั้ม Pet Sounds ที่มีต่อ Paul

อัลบั้ม Pet Sounds ของ The Beach Boys ที่มีอิทธิพลต่อ Paul ในการทำอัลบั้ม Sgt. Pepper

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ยกให้อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มร็อกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลเนื่องจากอิทธิพลของมันที่มีต่อวงการในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบ concept album ที่นำไปสู่ยุค album era ที่ศิลปินมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน แทนที่จะต้องถูกพันธนาการด้วยการมุ่งผลิตเพลงในรูปแบบของซิงเกิลที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการนำเสนอเพียงอย่างเดียว การออกอัลบั้มส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการรวมเอาเพลงที่ออกเป็นแผ่นซิงเกิลมาแล้วเข้าด้วยกันแล้วเพิ่มเพลงที่มีคุณภาพด้อยกว่าเพียงเพื่อ “เติม” อัลบั้มให้เต็มเท่านั้น The Beatles ไม่เห็นด้วยกับการทำแบบนี้เพราะมองว่าเป็นการเอาเปรียบแฟนเพลงที่ต้องเสียเงินซื้อเพลงเดียวกันถึงสองหน นี่ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สองเพลงที่ผลิตขึ้นมาก่อนหน้าและถูกนำไปทำเป็นซิงเกิล Strawberry Fields Forever / Penny Lane ไม่ถูกเอากลับมารวมในอัลบั้ม Sgt. Pepper นี่นับเป็นการปฏิวัติรูปแบบการทำอัลบั้มเพลงป็อป เพราะมีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์วงการเพลงป็อปที่เราจะแยกได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือ “ยุคก่อน” และ “ยุคหลัง” อัลบั้ม Sgt. Pepper ถือเป็นเส้นแบ่งยุคที่เห็นได้อย่างชัดเจน

อัลบั้ม Sgt. Pepper ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของยุคฮิปปี้ที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมและต้องการมองหาสิ่งใหม่ๆให้กับสังคม เป็นยุคแห่งการแสวงหาและไม่ยอมรับคิดแบบเก่าๆหรือที่เรียกกันว่า counterculture มีเพลงซึ่งเนื้อหาถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่าง Lucy In The Sky With Diamonds (ซึ่งย่อได้เป็น LSD ยาเสพติดที่นิยมกันในหมู่ฮิปปี้ในยุคนั้น) หรือ With A Little Help From My Friends (ซึ่งมีท่อนหนึ่งที่บอกว่า “I get high” ซึ่งเป็นคำสแลงหมายถึงกำลังเมายา หรือ “take some tea” ซึ่งอาจจะหมายถึงการพี้กัญชา) หรือแม้แต่ปกอัลบั้มที่ออกแนว psychedelic ที่ฉีกแนวจากปกอัลบั้มป็อปทั่วไป (ความจริงแนวโน้มนี้เริ่มเห็นได้ตั้งแต่อัลบั้มก่อนหน้าคือ Revolver ซึ่งใช้ลายเส้นสีขาวดำ)

แต่หากมองในเนื้อหาของหลายเพลงในอัลบั้มนี้แล้ว เรากลับพบว่าเพลงส่วนใหญ่ยังมีเนื้อหาที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เช่น เพลง She’s Leaving Home และเพลง When I’m Sixty-Four ที่ยังมีมุมมองของคนรุ่นเก่า หรือแม้แต่เพลง Fixing Hole ก็เป็นการบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของการใช้ชีวิตของคนทั่วไป เนื้อหาเช่นนี้ดูจะไม่เหมาะกับอัลบั้มที่ออกมาในช่วง Summer of Love ปี 1967 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรมในยุคแห่งการแสวงหาของเหล่าบุปผาชน

สิ่งที่เป็นจุดเด่นอย่างแท้จริงของอัลบั้มนี้คือรูปแบบดนตรีที่แม้นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งจะบอกว่าเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ไม่ใช่เพลงที่เพราะและชวนจดจำมากเท่ากับอัลบั้มก่อนหน้าของ The Beatles ไม่ว่าจะเป็น Rubber Soul หรือ Revolver แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจารณ์เห็นพ้องกันคือความกล้าในการลองและผสมผสานรูปแบบดนตรีหลากหลาย เช่น rock, jazz, blues, avant-garde เป็นต้น นับได้ว่าเป็นต้นแบบของ progressive rock ในเวลาต่อมา  มีการใช้เทคนิคการอัดเสียงใหม่ๆที่ เช่น การตัดต่อเทปให้เล่นวนหรือ loop tape การสร้างเอฟเฟกต์ด้วยการเล่นเทปกลับหลัง การผสมเสียงของเทปจากการอัดสองครั้งที่จังหวะและระดับความถี่เสียง (pitch) ที่แตกต่างกัน เทคนิคต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ลูกเล่นเท่านั้น แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งเพลงเพราะเป็นการใช้เอฟเฟกต์เพื่อให้เกิดอิทธิพลต่ออารมณ์ของผู้ฟังที่สอดคล้องกับเนื้อหาของเพลง มีรูปแบบที่คล้ายกับการสร้างงานศิลปะแนว avant-garde ซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคนั้น โดยเฉพาะเทคนิคแบบ collage ที่สร้างงานศิลปะขึ้นใหม่จากการผสมผสานและดัดแปลงงานศิลปะแบบเก่าเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ Sgt. Pepper ยังเป็นอัลบั้มแรกที่ไม่มีช่องว่างระหว่างแต่ละแทร็ก โดยเมื่อแทร็กหนึ่งจบจะเริ่มอีกแทร็กหนึ่งทันทีโดยไม่มีช่วงหยุดระหว่างเพลงทำให้อารมณ์ในการฟังเพลงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่สะดุด

เพลงที่เป็น highlight ของอัลบั้มนี้คือเพลง A Day In The Life ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มต่อจากแทร็กเพลงซ้ำ Sgt. Pepper (Reprise) เพื่อให้สะท้อนถึงจุดจบของเรื่องราวในจินตนาการและการกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพลงนี้เป็นเพลงที่ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อน ประกอบด้วยท่อนหลัก 4 ท่อน ท่อน bridge ท่อนที่แปลกและค่อนข้าง abstract คือช่วงที่บรรเลงด้วยออร์เครสตราใช้เครื่องดนตรี 40 ชิ้นแบบให้อิสระกับนักดนตรีในการไล่โน้ตจากต่ำไปสูงซึ่งมีความยาวทั้งหมด 24 ห้อง สอดแทรกด้วยท่อนกลางที่ Paul เป็นคนแต่งและร้อง ส่วนที่เหลือของเพลงแต่งโดย John จากเรื่องราวที่เขาอ่านพบในหนังสือพิมพ์ เนื้อเพลงช่วงก่อนเข้าสู่การบรรเลงแบบอิสระของออร์เครสตรามีข้อความว่า “…I love to turn you on..” ซึ่ง BBC ในสมัยนั้นมองว่าหยาบคายเกินไป เป็นเหตุให้เพลงนี้ถูกแบนไม่ให้ออกอากาศ เพลงจบลงด้วยคอร์ด E major ที่ดังอยู่เกือบหนึ่งนาทีเต็ม  คอร์ดนี้เล่นด้วยเปียโน 3 หลังผสมด้วยเสียงของ harmonium (ออร์แกนโบราณชนิดหนึ่ง) และใช้เทคนิคในการอัดที่ช่วยให้ลากเสียงคอร์ดสุดท้ายออกไปนานถึงกว่า 40 วินาที
 

โปรดิวเซอร์ George Martin ให้คำปรึกษาระหว่างการอัดอัลบั้ม Sgt. Pepper

Paul ลองเป็นวาทยากรควบคุมวงออร์เคสตราระหว่างการอัดเสียงเพลง A Day in the Life       
 
มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเพลงนี้ว่า ในตอนแรก เพลงปิดอัลบั้มควรจะเป็น Sgt. Pepper (Reprise) เพราะจะเป็นไปตาม concept ที่ให้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยวง Sgt. Pepper แต่เมื่อโปรดิวเซอร์ George Martin ได้ฟังคอร์ดสุดท้ายของเพลง A Day In The Life แล้ว เขาคิดว่าเสียงทอดยาวของคอร์ดนี้ควรจะเป็นคอร์ดสุดท้ายของอัลบั้มนี้ ไม่มีอะไรจะมาแทนมันได้

ต่อจากเพลงสุดท้าย The Beatles ใส่เสียงเอฟเฟกต์ที่เกิดจากการอัดเสียงพูดของ John ว่า “been so high” และของ Paul ว่า “never could have been any other way” พร้อมเสียงหัวเราะที่เล่นกลับหลังและวนไปมา เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขายังทิ้งลูกเล่นสุดท้ายไว้ในร่องแผ่นเสียงร่องสุดท้ายซึ่งในสมัยนั้นเครื่องเล่นจานเสียงยังไม่มีระบบยกหัวเข็มแบบอัตโนมัติ ดังนั้น ถ้าใครทิ้งหัวเข็มค้างไว้ จะมีเสียงความถี่สูง 15 กิโลเฮิร์ทซ์ซึ่งเป็นความถี่ที่มนุษย์ไม่ได้ยินแต่จะเป็นเสียงที่กวนประสาทสุนัขแบบสุดๆ นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าไอเดียเรื่องการใช้เทคนิคการอัดเสียงแบบแปลกๆในแผ่นนี้น่าจะมาจากจินตนาการของคนที่กำลังเมายาและเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะสมัยใหม่แบบ avant-garde

แม้แต่ปกอัลบั้มนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย อย่างแรกที่มักพูดถึงกันคือการสื่อด้วยภาพของวงในจินตนาการ Sgt. Pepper ที่มีการแต่งกายรวมทั้งการไว้ทรงผมและหนวดเคราที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพลักษณ์ “mop tops” หรือ “สี่เต่าทอง” ที่มีสัญลักษณ์ปรากฏบนปกอัลบั้มด้วยหุ่นขี้ผึ้ง (จากพิพิธภัณฑ์ Madame Tussauds) ของสมาชิกทั้งสี่คนที่ถูกเบียดให้ไปยืนอยู่ด้านข้าง การไว้หนวดครึ้มและการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดสื่อถึงวัฒนธรรมฮิปปี้ที่กลายเป็นกระแสนิยมในยุคนั้น ภาพหมู่ของบุคคลสำคัญประกอบด้วยภาพถ่าย 57 ภาพและภาพหุ่นขี้ผึ้งอีก 9 ภาพซึ่งเป็นบุคคลสำคัญหลากหลายจากวงการต่างๆซึ่งรวมทั้งนักแสดง นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา กูรูลัทธิทางศาสนา นักเขียน นักร้องและนักแสดงปกอัลบั้มนี้ได้รับรางวัล Grammy Award for Best Album Cover ในปี 1968  นอกจากนี้ ยังมีการนำเนื้อเพลงทุกเพลงมาพิมพ์ไว้บนปกหลังซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอัลบั้มเพลงร็อก


เบื้องหลังการถ่ายปกอัลบั้ม Sgt. Pepper





ระหว่างการโปรโมทอัลบั้ม Sgt. Pepper


เหตุผลที่อัลบั้มนี้ได้รับการยกย่องจากหลายสำนักให้เป็นอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยมตลอดกาลน่าจะเป็นเพราะการที่เป็นอัลบั้มที่ทรงคุณค่าในด้านการยกระดับดนตรีป็อปจนเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้อีกต่อไป ความเป็นผู้บุกเบิก album era ที่ปลดปล่อยศิลปินจากพันธนาการเชิงพาณิชย์ยุคที่ยังเน้นแต่แผ่นซิงเกิล และที่สำคัญที่สุด Sgt. Pepper เป็นอัลบั้มซึ่งนับเป็น iconic album ที่เป็นตัวแทนสะท้อนความเป็นไปทางวัฒนธรรมและสังคมในยุคทศวรรษที่ 60 ในปี 2003 นิตยสาร Rolling Stone จัดให้เป็นอัลบั้มอันดับหนึ่งของรายชื่อ 500 Greatest Albums of All Time และในปีเดียวกัน Library of Congress ของอเมริกาบรรจุอัลบั้มนี้ในทำเนียบ National Recording Registry เพื่อให้เกียรติถึงความเป็นอัลบั้มที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ในเชิงพาณิชย์ อัลบั้มนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ขายไปทั่วโลกแล้วกว่า 32 ล้านแผ่น

อย่างไรก็ตาม Paul McCartney พูดถึงอัลบั้มนี้อย่างถ่อมตัวว่าเขาเชื่อว่าหลายๆอย่างที่พวกเขาใส่ไว้ในอัลบั้มนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้วในยุคนั้น The Beatles เป็นเพียงผู้ที่สามารถนำเสนออิทธิพลต่างๆที่ได้รับจากศิลปวัฒนธรรมในยุคนั้นจนทำให้เกิดกระแสนิยมกันอย่างกว้างขวาง

มีเกร็ดเล็กน้อยสำหรับเพื่อนสมาชิกที่เป็นคอเพลงพันธุ์แท้ที่ต้องการฟังเพลงจากต้นฉบับที่มาจากการอัดเสียงในครั้งแรกจริงๆ ไม่ใช่การมามิกซ์เสียงในภายหลัง อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มสุดท้ายของ The Beatles ที่ต้นฉบับเป็นการอัดในระบบโมโน ส่วนเวอร์ชั่นที่เป็นสเตอริโอนั้นเป็นการมามิกซ์เสียงในภายหลัง มีนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งบอกว่าหากต้องการอรรถรสที่แท้จริงจากอัลบั้มนี้ ควรจะฟังอัลบั้มในระบบโมโนเพราะมิติเสียงที่อออกมาจะเป็นไปตามความตั้งใจของนักดนตรีและโปรดิวเซอร์มากกว่า
ในขณะที่เอฟเฟกต์เสียงในระบบสเตอริโอจะให้ความรู้สึกของความเป็น psychedelic มากกว่า เช่นการที่เสียงวิ่งไปมาระหว่างลำโพงซ้ายขวาทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนพวกกำลังเพลินจากอิทธิพลของการเสพยา แต่เวอร์ชั่นโมโนจะให้ความรู้สึกที่ดิบเป็น rock มากกว่า ก็ลองไปหามาฟังกันดูนะครับว่าจะเป็นอย่างที่เขาว่าหรือไม่ คงจะเหมือนการได้กลับไปสัมผัสกับอัลบั้มนี้เป็นครั้งแรก

 
Magical Mystery Tour (อัลบั้มที่ออกในอเมริกา พ.ย. 1967) รวมซิงเกิล Lady Madonna / The Inner Light





อันที่จริง Magical Mystery Tour ที่ออกครั้งแรกในอังกฤษไม่ได้ออกมาในรูปอัลบั้ม แต่ออกมาในรูปของ double EP เพราะมาจากเพลง soundtrack 6 เพลงจากหนังเรื่อง Magical Mystery Tour ซึ่งสร้างปัญหาให้กับต้นสังกัด Parlophone ในอังกฤษ เนื่องจากมีเพลงมากไปสำหรับแผ่น single แต่ก็น้อยไปสำหรับแผ่น LP ค่ายนี้จึงแก้ปัญหาด้วยการออกเป็น double EP 2 แผ่น แต่เมื่อออกในอเมริกา ค่าย Capitol ตัดสินใจออกเป็น LP โดยบรรจุทั้ง 6 เพลงจาก soundtrack หนังเป็น side A โดยใน side B นำเพลงที่ออกมาเป็นแผ่นซิงเกิลมาแล้ว 4 เพลงซึ่งรวมเพลง Strawberry Fields Forever และ Penny Lane อยู่ด้วย

Magical Mystery Tour เป็นหนังเรื่องที่ 3 ของ The Beatles ต่อจาก A Hard Day’s Night และ Help! แต่จะแตกต่างจากสองเรื่องที่กำกับโดยผู้กำกับมืออาชีพอย่าง Richard Lester ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ส่วน MMT เป็นหนังสร้างสำหรับฉายทางทีวี เป็นหนังที่มีไม่มีการเขียนบทไว้ก่อน เป็นไอเดียที่ Paul ได้ได้จากการอ่านเรื่องราวของ Ken Kesey (ผู้เขียนเรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest) เกี่ยวกับการตระเวนเสพยาไปทั่วอเมริกากับรถบัสชื่อ Further ของเขากับกลุ่มคนเดินทางที่เรียกตัวเองว่า Merry Pranksters

เมื่อออกฉายเป็นครั้งแรกทางช่อง BBC ก็ถูกนักวิจารณ์และคนดูสวดยับว่าเป็นหนังที่ไม่มีเนื้อหา เหมือนเอาเหตุการณ์มาปะติดปะต่อกันโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย การถ่ายทำที่เหมือนมือสมัครเล่นจนเกิดอาการภาพสั่นไหวเกือบทั้งเรื่อง คนดูให้เรตติ้งต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 23 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 อย่างไรก็ตาม มีนักวิจารณ์ในปัจจุบันบางส่วนเริ่มมองว่าเป็นไปได้ว่าการนำเสนอของหนังเรื่องนี้เป็นแนว avant-garde ที่ล้ำยุคจนยากที่คนสมัยนั้นจะยอมรับได้ ซึ่งก็อาจจะมีเค้าความเป็นจริงเนื่องจากในช่วงนั้น Paul McCartney สนใจศึกษางานดนตรีของนักประพันธ์ดนตรีแนว avant-garde อย่าง Karlheinz Stockhausen และ John Cage ถึงขนาดนำรูปของ Stockhausen ลงบนปกอัลบั้ม Sgt. Pepper ด้วย

นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังมีความเป็น surrealism ในแนวศิลปะเหนือจริงของ Dali จึงไม่น่าแปลกใจที่ตอนที่หนังเรื่องนี้ออกมาจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบกันอย่างแพร่หลาย แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องนี้ก็ตาม อย่างหนึ่งที่นักวิจารณ์ยอมรับกันคือความกล้าของ The Beatles ที่สร้างผลงานแบบที่สามารถสะท้อนสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม counterculture ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี


[ติดตามอ่านต่อในตอนที่ 4 ครับ]



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น