วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การแยกวง ตอนที่ 3


ความสัมพันธ์ระหว่าง John และ Paul หลังการแยกวง

สำหรับตอนสุดท้ายนี้จะขอนำเกร็ดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง John และ Paul หลังการแยกวงมาเล่าสู่กันฟัง เพราะมีความน่าสนใจในหลายๆมุมมอง

อย่างแรกที่คงต้องพูดถึงคือความบาดหมางกันหลังแตกวงระหว่างทั้งสองคนที่สะท้อนออกมาไม่ว่าจะในรูปของการให้สัมภาษณ์หรือแม้แต่ในเพลงที่เหน็บแนมและโต้ตอบกันไปมา
Paul เริ่มก่อนด้วยเพลง Too Many People ที่มีเนื้อเพลงบางท่อนเสียดสJohn ว่า
“…You took your lucky break and broke it in two…”
(ซึ่งหมายความถึง Yoko Ono เป็นคนทำลาย The Beatles ที่นับเป็นโอกาสสำคัญในชีวิต Paul เปลี่ยน “Yoko” เป็น “You” เพราะไม่อยากให้โจ่งแจ้งเกินไป Paul คงเป็นคนรู้จักให้อภัยและอยากให้ทุกคนลืมอดีตที่แย่ๆเพราะออกมาประกาศในปี 2012 ว่า Yoko ไม่ใช่ต้นเหตุของการแตกวง นอกจากนี้ ก็อาจจะเป็นเพราะ Yoko เป็นผู้จัดการมรดกของ John หลังการเสียชีวิตของ John จากการถูกลอบยิง การตัดสินใจทางธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินของ The Beatles ต้องได้รับความเห็นชอบจาก Yoko ก่อน อะไรที่จะลดความขุ่นข้องหมองใจในอดีตก็น่าจะช่วยให้การทำงานด้วยกันในทางธุรกิจราบรื่นยิ่งขึ้น)

“…Too many people preaching practices…”
(ซึ่งแซว John ว่าชอบเทศนาสั่งสอนใครต่อใคร)

John ตอบโต้ด้วยเพลง How Do You Sleep? ที่มีเนื้อร้องค่อนข้างแรงและไม่ค่อยอ้อมค้อม
“…You live with straights who tell you, you was king…’”
(straights คงหมายถึงพวกประจบสอพลอ)

“…Jump when your mamma tell you anything…”
(เป็นเอาเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของ Let It Be มาแซว ... Mother Mary comes to me; Speaking words of wisdom, let it be…”)

“…The only thing you done was yesterday…”
(แรงมาก เพราะ Yesterday ถือเป็นเพลงเอกของ Paul)

“…And since you've gone you're just another day…”
(เพลงแรกหลังแยกวงของ Paul คือ Another Day)

“…A pretty face may last a year or two
But pretty soon they'll see what you can do
The sound you make is muzak to my ears
You must have learned something in all those years…”
(Muzak เป็นชื่อบริษัทที่รับจัดดนตรี easy listening ประเภท elevator music ที่เปิดในลิฟต์หรือตามศูนย์การค้า แสบมาก)

ดูเผินๆอาจจะเห็นแต่ความเกลียดชังกันที่แสดงออกมาในรูปของเนื้อเพลงเสียดสีแดกดัน แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องที่มาของ creativity (ความคิดสร้างสรรค์) กลับสรุปจากการโต้ตอบกันไปมาทางผลงานเพลงของทั้งคู่ว่าแบบนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่าทั้งคู่ต้องการกระตุ้นจาก
อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

Lennon-McCartney เป็นคู่นักแต่งเพลงที่ต่างจากคู่นักแต่งเพลงที่ส่วนใหญ่คนหนึ่งจะเก่งเรื่องทำนองในขณะที่อีกคนจะชำนาญการเขียนเนื้อร้อง John กับ Paul ทำได้ดีทั้งสองอย่าง ทำให้มีความเข้าใจว่าอีกฝ่ายต้องการหรือยังขาดอะไรไปทั้งในด้านทำนองหรือเนื้อร้อง พูดง่ายๆคือแค่เล่นดนตรีหรือพูดอะไรออกมานิดเดียวอีกฝ่ายก็จะรู้ทันทีว่ากำลังคิดอะไร และก็อย่าลืมว่าทั้งคู่เคยเล่นดนตรีแบบหฤโหดในคลับในเยอรมนีคืนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง เรียกว่าแทบจะเจอปัญหาด้านการร้องและเล่นดนตรีมาแล้วเกือบทุกรูปแบบ

ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเรื่อง Outliers ของ Malcom Gladwell มีบทหนึ่งพูดถึงความสำเร็จของศิลปินหรือคนที่อยู่ในอาชีพอื่นๆว่าหากใครจะประสบความสำเร็จได้ต้องรับการฝึกฝนในเรื่องนั้นๆมาไม่น้อยกว่า 10,000 ชั่วโมงจึงจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ ต่อให้เป็นอัจฉริยะแต่ถ้าขาดการฝึกฝนก็ไม่มีทางสร้างผลงานยิ่งใหญ่ได้ การเล่นในคลับของ The Beatles เป็นการเตรียมความพร้อมให้วงนี้ประสบความสำเร็จในอเมริกา (ซึ่งถือเป็น lucky break หรือจุดพลิกผันสำคัญตามที่ Paul แซวไว้ในเพลง Too Many People) รวมทั้งช่วยให้ John และ Paul รู้สไตล์และจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคนเป็นอย่างดี เป็นการเสริมซึ่งกันและกัน

ถ้าพูดตามหลักจิตวิทยาก็ต้องบอกว่าคู่นี้เป็น love-hate relationship ที่ทำให้เกิด competitive creativity เพราะแข่งกันสร้างผลงาน (หรือน่าจะเรียกว่า interactive creativity มากกว่า เพราะความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการโต้ตอบกันไปมา) ที่มีผลให้ทั้งคู่สร้างสรรค์ผลงานร่วมกันออกมาที่มักจะดีกว่าที่คนใดคนหนึ่งจะแต่งเอง ความละมุนละไม การมองโลกในแง่ดี และความเป็นระบบระเบียบของ Paul ถูกเสริมด้วยความลุ่มลึก ก้าวร้าว และอารมณ์ศิลปินที่แปรปรวนง่ายของ John ทำให้ผลงานที่ออกมามีความเป็นเอกลักษณ์ มีลูกเล่นสอดแทรกที่ขาดไปในผลงานเดี่ยวของทั้งสองคน

พูดง่ายๆ ก็คือผลงานเดี่ยวขาดเสน่ห์บางอย่างที่เกิดจาก chemistry ระหว่างทั้งสองคน ยกตัวอย่างเช่น บางเพลงที่ Paul แต่งเองเกือบทั้งหมด แต่ก็จะมี John ช่วยใส่มุกเข้ามาตอนท่อนแยก (middle eight) ที่ทำให้เพลงไม่หวานแหววจนเกินไป ดูน่าสนใจกว่าเดิม ลองฟังท่อนแยกของ And I Love Her ที่ John ช่วย Paul แต่ง ("A love like ours/Could never die/As long as I/Have you near me") จะเห็นได้ว่าแค่การใส่ bluesy note หรือโน้ตนอกคีย์เข้าไปในท่อนแยกนี้เพียงตัวเดียว ทำให้อารมณ์เพลงเปลี่ยนไปทันที เป็นเสน่ห์ที่เห็นได้ชัดของเพลงนี้

หรือเพลงที่จอห์นแต่งที่มักจะเหมือนบ่นๆอะไรอยู่คนเดียว แต่ก็มี Paul ช่วยใส่ลูกเล่นเข้ามาจนทำให้ทำนองเพลงมีความเป็นดราม่ามากขึ้น ตัวอย่างเช่นเพลงของ John อย่าง A Day In The Life ที่ Paul แทรกท่อนกลางเข้าไปทำให้เพลงมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที ("Woke up, fell out of bed, dragged a comb across my head ...")

น่าสังเกตว่า John มักแต่งเนื้อเพลงที่ใช้บุรุษที่หนึ่งในการเล่าเรื่องและมักจะเป็นเรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนตัว ในขณะที่ Paul ชอบแต่งเนื้อโดยใช้บุรุษที่สามและมักจะเป็นเรื่องจินตนาการ มีความเป็นดราม่ามากกว่า ซึ่งเหมาะกับทำนองเพลงสไตล์แบบ Paul ที่ตัวโน้ตจะกระโดดขึ้นลงไปมา ผิดกับทำนองเพลงของ John ที่ตัวโน้ตมักจะเดินไปแบบราบเรียบไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวมากนัก

ความแตกต่างกันสุดขั้ว (หรือจะเรียกว่าเป็นหยินหยางก็ได้) นี้เองที่ทำให้การผสมผสานระหว่างสองสไตล์กลายเป็นผลงานที่โดดเด่น มีทั้งเมโลดี้ที่เพราะติดหู บวกด้วยการเล่าเรื่องราวผ่านเนื้อเพลงที่มีปรัชญาและอารมณ์ขันสอดแทรก ทำให้ผลงานเพลงอยู่ยงคงกระพัน มีนักดนตรีหลากหลายแนวเอาเพลงของ The Beatles ไปดัดแปลง สร้างอิทธิพลในวงการเพลงอย่างที่ไม่มีวงดนตรีแนวป๊อปวงไหนทำได้ในระดับเดียวกัน

และการแข่งขันกันแต่งเพลงระหว่างทั้งคู่กระตุ้นให้ต่างฝ่ายต้องพยายามสร้างผลงานให้ดีกว่าอีกคนหรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่ให้น้อยหน้าเพื่อน เช่นตอนที่ John แต่งเพลง Strawberry Fields Forever เกี่ยวกับสถานที่จริงใน Liverpool Paul ก็แต่ง Penny Lane มาแข่ง ทำให้ได้ผลงานชิ้นเยี่ยมสองชิ้นนี้ออกมา

Paul เคยให้สัมภาษณ์ว่ายังคงได้รับแรงบันดาลใจจาก John แม้หลังจากที่ตายไปแล้ว Paul เคยให้สัมภาษณ์ตอนโปรโมทอัลบั้ม New ในปี 2013 ว่าเวลาแต่งเพลงแล้วเกิดติดขึ้นมาและคิดอะไรไม่ออก บางครั้งเขาจะลองจินตนาการดูว่าถ้าJohn ยังอยู่เขาจะให้คำแนะนำอะไรบ้าง เนื่องจาก John มักจะเป็นคนที่มีไอเดียในแง่มุมแปลกๆที่ตัวเขาเองนึกไม่ถึง บางทีพูดอะไรมานิดเดียวทำให้จุดประกายเอาไปต่อยอดได้

ส่วน John เองเมื่อถูกถามในการให้สัมภาษณ์ในปี 1972 ว่าเนื้อเพลง How Do You Sleep? รุนแรงไปรึเปล่า John ตอบว่า  "If I can't have a fight with my best friend, I don't know who I can have a fight with." (ถ้าผมเถียงกับเพื่อนที่ดีที่สุดไม่ได้ ผมก็ไม่ทราบจะไปเถียงกับใครได้)

พอคนสัมภาษณ์ถามต่อว่า "Is he your best friend, Paul?" (Paul เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของคุณหรือเปล่า)

จอห์นตอบตะกุกตะกักว่า "I guess in the male sex he— he was. I don't know about now, because I don't see much of him, you know." 
(ผมคิดว่าถ้านับเฉพาะเพศชาย เขาใช่ ผมไม่ทราบว่ามันยังเป็นอย่างนั้นอยู่รึเปล่า เพราะผมไม่ค่อยได้พบกับเขาแล้วตอนนี้)

สังเกตว่า John จงใจใช้ past tense ว่า “…he was…” เพื่อเน้นถึงความสัมพันธ์กับ Paul ในอดีต

แต่ไม่ว่า John จะคิดอะไรในใจตอนที่ให้สัมภาษณ์ในครั้งนั้น John คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเองก็ได้รับอิทธิพลบางอย่างมาจาก Paul โดยดูได้จากแนวคิดของ John เกี่ยวกับเพลง Imagine ซึ่งต้องถือว่าเป็นผลงานเดี่ยวที่ดีที่สุดของ John หลังการแยกวง และต้องถือว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาก้าวหน้าสุดโต่งทั้งในทางการเมือง ศาสนา และการต่อต้านระบบ

John พูดถึงเพลงนี้ว่า "[It's] anti-religious, anti-nationalistic, anti-conventional, anti-capitalistic. But because it is sugarcoated, it is accepted. Now I understand what you have to do. Put your political message across with a little honey." 
(มันเป็นเพลงที่ต่อต้านศาสนา ต่อต้านลัทธิชาตินินม ต่อต้านความคิดอนุรักษ์นิยม ต่อต้านระบบทุนนิยม แต่เพราะมันถูกเคลือบไว้ด้วยความหวานไพเราะ มันจึงได้รับการยอมรับ ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าจะต้องทำอะไรบ้าง คุณสอดแทรกแนวคิดทางการเมืองไว้ในเพลงที่ฟังเพราะเหมือนเคลือบมันไว้ด้วยน้ำผึ้ง)

แต่การ เคลือบน้ำผึ้งให้กับเพลงที่มีเนื้อหาหนักแบบนี้ไม่ใช่สไตล์ดั้งเดิมของ John ตอนยังเป็น Beatle John ไม่ถนัดทำเพลงแนวนี้ Paul ต่างหากที่ชอบเมโลดี้หวานๆมีดราม่า นี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมผลงานเดี่ยวของทั้งสองคนจึงหายากที่จะออกมาสมบูรณ์แบบและมีพลังเหมือนสมัยยังอยู่กันเป็น The Beatles เนื่องจากไม่มีเพื่อนคู่คิดมาช่วยกระตุ้น เหมือนกับที่ Andre Agassi พูดถึง Pete Sampras ว่าถ้าไม่มี Pete เขาคงมีสถิติการเล่นเทนนิสที่ดีกว่านี้ “…but I’d be less…” (...แต่ผมก็จะเป็นเพียงนักเทนนิสธรรมดาๆคนหนึ่ง...)

ผมขอจบข้อเขียนนี้ด้วยการพูดถึงเหตุการณ์ที่บ่งบอกชัดเจนถึงความสัมพันธ์พิเศษลึกซึ้งระหว่าง John และ Paul ที่แม้แต่ความขัดแย้งบาดหมางกันในด้านธุรกิจและเรื่องส่วนตัวก็ไม่สามารถจะทำลายลงได้ มันเกิดขึ้นระหว่างการแสดงสดครั้งสุดท้ายบนดาดฟ้าตึกสำนักงาน Apple Corps ในวันที่ 30 ม.ค. 1969 ตอนที่ John ร้องเพลง Don’t Let Me Down แล้วเกิดลืมเนื้อท่อนที่ 3 แล้วต้องร้องมั่วดำน้ำอยู่ช่วงหนึ่ง แต่พอทั้งคู่หันมาสบตากันก็สามารถช่วยกันร้องต่อด้วยเนื้อที่ถูกต้องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น John ยิ้มขอบคุณและ Paul พยักหน้าตอบ
อย่าลืมว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่ทั้งคู่กำลังเกิดความบาดหมางกันอย่างหนักจนแทบจะมองหน้ากันไม่ติด

นั่นคงจะเป็นภาพที่แฟนๆ The Beatles อยากจะจดจำไว้ถึงความสัมพันธ์พิเศษระหว่างทั้งสองคนแม้ John จะเคยพูดถึงการแตกวงว่า

“It's just natural, it's not a great disaster. People keep talking about it like it's The End of The Earth. It's only a rock group that split up, it's nothing important. You know, you have all the old records there if you want to reminisce.” (มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา มันไม่ใช่ความหายนะที่ยิ่งใหญ่อะไร ผู้คนมักจะพูดถึงมันราวกับว่ามันเป็นวันโลกวิบัติ มันเป็นแค่วงร็อกวงหนึ่งที่แยกวงกัน ไม่ได้สลักสำคัญอะไร คุณก็รู้ดีว่าคุณมีแผ่นเสียงเก่าๆของวงนี้ที่จะมาเปิดฟังเพื่อรำลึกถึงวงนี้เมื่อไรก็ได้)


เพราะเรารู้ดีว่าคงจะหาวงที่เหมือน The Beatles ไม่ได้อีกแล้ว



1 ความคิดเห็น:

  1. ต้องขอโทษคุณ ฺBenjapol Chantarakana ด้วยครับ ที่ความเห็นของคุณที่ให้กำลังใจกับบล็อกนี้มาถูกลบออกไปด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคบางประการ

    ขอขอบคุณสำหรับคำชื่นชมนะครับ จะพยายามหาเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับวงนี้มาเขียนให้อ่านกันอย่างสม่ำเสมอต่อไปครับ

    ตอบลบ