วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การแยกวง ตอนที่ 2


คดี Paul ฟ้อง John, George, Ringo และบริษัท Apple

[สรุปจากบทวิเคราะห์โดยนักกฎหมายที่ชำนาญคดีประเภทนี้ชื่อ Joseph C. Self]

เหตุที่ Paul ตัดสินใจฟ้องเพื่อนทั้ง 3 คนเพื่อยุบวงและเอาเรื่องในมุ้งมาเล่าให้ชาวบ้านฟังเกิดจากความไม่ไว้ใจผู้จัดการวงคนใหม่ Allen Klein ซึ่งเป็นคนของ John, George และ Ringo
สมาชิกทั้ง 4 คนทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกันเป็นเวลา 10 ปีตั้งแต่เดือน เม.ย. 1967 โดยใช้ชื่อ partnership (ห้างหุ้นส่วน) ว่า “The Beatles & Co.” และมีหุ้นส่วนใหญ่ (80%) เป็น Apple Corps Limited ซึ่งเป็นนิติบุคคล หมายความว่า The Beatles เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทของตัวเอง สัญญานี้ให้สิทธิ์กับ Apple ในการบริหารจัดการทรัพย์สินของ partnership ให้เกิดดอกออกผลสูงสุด

ปัญหาเริ่มเกิดหลังการตายของ Brian Epstein ผู้จัดการคนเดิมของวง เนื่องจากไม่มีคนดูแลด้านธุรกิจของ Apple ทำให้บริษัทเริ่มขาดทุนอย่างหนัก ถึงขนาด John เผลอให้สัมภาษณ์ว่าถ้าฐานะการเงินยังเป็นอย่างนี้ กิจการบริษัทจะล้มได้ภายในเวลา 6 เดือน

พอ Allen Klein ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท ABKCO อ่านเจอคำให้สัมภาษณ์นี้ก็พยายามเข้าหา John, George และ Ringo เพื่อเสนอตัวเป็นผู้จัดการวงคนใหม่ แต่อย่างที่เคยเขียนไว้ในตอนที่ 1 ว่า Paul ไม่ชอบ Klein เพราะประวัติไม่ดีและ Paul ต้องการให้พ่อและพี่ชายภรรยาซึ่งเป็นทนายที่เชี่ยวชาญเรื่องการเป็นตัวแทนของศิลปินต่างๆมาเป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม Paul โหวตแพ้เพื่อนทั้ง 3 คน สัญญาที่ทำระหว่าง ABKCO และ Apple เซ็นโดย John และ George ในฐานะกรรมการและสมาชิก The Beatles ยกเว้น Paul
เหตุผลลึกๆที่ Paul ฟ้องเพราะไม่ต้องการให้ Klein มาได้ประโยชน์จากผลงานของตน ในสัญญาจ้าง Klein จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ของ partnership “The Beatles & Co.” แต่ยังไม่ชัดเจนว่า Klein จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ของผลงานในฐานะศิลปินเดี่ยว (solo albums) หรือไม่ (Paul กลัวว่า Klein จะได้ในส่วนนี้ ซึ่งหากตีความตามกฎหมายก็น่าจะเป็นอย่างนั้น) ที่สำคัญคือ Paul เห็นว่าส่วนแบ่งจากรายได้ที่ Apple ต้องจ่ายให้กับ Klein นั้นสูงเกินไป

ในคำฟ้องต่อศาล Paul ระบุสาเหตุ 7 ข้อที่ทำให้เชื่อได้ว่าทรัพย์สินของ The Beatles & Co ถูกใช้ไปอย่างไม่เกิดประโยชน์และไม่มีการจัดทำบัญชีอย่างถูกต้อง ดังนี้

1. Klein (ดำเนินการผ่าน ABKCO ที่ Klein ควบคุมอยู่) แอบอ้างรับค่าคอมมิชชั่นมากกว่าที่ระบุในสัญญา ตามสัญญาหาก ABKCO เจรจาขอขึ้นค่าลิขสิทธิ์เพลงจาก Capitol Records ได้เพิ่มมาเท่าไร จะได้ค่าคอมมิชชั่น 20% ของส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิม แต่ ABKCO กลับคิด 20% จากค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะส่วนเพิ่ม

นอกจากนี้ Paul ยังแย้งว่าผลงาน solo albums ไม่รวมอยู่ในสัญญานี้ และได้สั่งให้ EMI ซึ่งจัดจำหน่ายอัลบั้ม McCartney ระงับการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ แต่ Klein กลับใช้ยอดขายอัลบั้มในการคิดและจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับ ABKCO ทั้งๆที่ Paul ยังไม่ได้เงินค่าลิขสิทธิ์จาก EMI แม้แต่น้อย

2. จำเลยเข้าทำสัญญาที่กระทบต่อทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่ได้รับความเห็นชอบ แม้ว่า Paul จะแพ้โหวตและต้องถูกผูกพันตามสัญญาหุ้นส่วน แต่เอกสารหลายๆอย่างที่หุ้นส่วนคนอื่นไปทำสัญญาไว้หลังจากนั้น Paul ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น ตามกฎหมาย partnership เสียงข้างมากจะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อหุ้นส่วนทุกคนต้องรับรู้และมีส่วนในการตัดสินใจ เช่น การออกหนังสือสั่งให้ Capitol จ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นโดยตรงให้กับ Klein หรือการออกหนังสือถึง EMI ให้จ่ายค่าคอมมิชชั่นให้ ABKCO 10% จากยอดขายนอกตลาดอเมริกา สัญญาเดิมไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องนี้

3. ขาดการบันทึกและจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องนับแต่ Klein เข้ามาเป็นผู้จัดการ

4. ฐานะการเงินที่ย่ำแย่

5. ปัญหาการจ่ายภาษีที่กำลังจะเกิดขึ้น  ภาระภาษีค้างจ่าย 341,000 ปอนด์ในขณะที่มีทรัพย์สินอยู่เพียง 208,000 ปอนด์ (ไม่รวมทรัพย์สินไม่มีตัวตน เช่น ยี่ห้อสินค้า หรือ brand name)

6. การใช้จ่ายเงินอย่างไม่ระมัดระวังของหุ้นส่วน (John เบิกเงินจากบริษัทไป 76,000 ปอนด์, Ringo 68,000  ปอนด์, George 20,000 ปอนด์, Paul 18,000 ปอนด์)

7. ความไม่เหมาะสมที่จะให้ Klein เป็นผู้จัดการวงต่อไปจากพฤติกรรมต่างๆที่แสดงออกมาและความเสียหายที่จะตามมา Klein มีคดีถูกฟ้องร้องและถูกกล่าวโทษโดย กลต. ในอเมริกา
ด้วยเหตุทั้งหมดตามที่กล่าว ศาลเห็นด้วยกับ Paul ว่าคงจะเป็นไปได้ยากที่จะคงความเป็นหุ้นส่วนกันต่อไป และสั่งให้มีการตั้ง receiver (เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์) และผู้สอบบัญชีเพื่อสะสางทรัพย์สินของ The Beatles & Co.

บทวิเคราะห์สรุปว่าหากมองจากประเด็นด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว ก็เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ Paul ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรจะทำนานแล้ว ไม่ใช่ปล่อยมาขนาดนี้ เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปและมีเหลือบอย่าง Klein มาคอยดูดน้ำเลี้ยงจากผลงานของ The Beatles ไปเรื่อยๆ คนที่เสียผลประโยชน์ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากสมาชิกทุกคนของ The Beatles

Paul หนีไม่พ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากสมาชิกวงคนอื่น จากแฟนเพลง จากสื่อวงการเพลงร็อกที่มองว่า Paul กลายเป็นพวก The Establishment (ชนชั้นผู้นำ) ไปแล้ว และจากคนที่มองว่า Paul เป็นคนที่เริ่มกระบวนการที่ทำให้ The Beatles แตกวงอย่างกู่ไม่กลับ (Paul เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเหตุการณ์ผ่านมาแล้วหลายปีว่า เพื่อนในวงมาขอบคุณที่ช่วยให้หลุดพ้นการเอารัดเอาเปรียบจากคนอย่าง Klein)

เรื่องนี้คงมองไปได้หลายมุม ก็คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่ว่าเรื่องธุรกิจและเงินๆทองๆไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่ในระหว่างเพื่อนฝูง


ในตอนสุดท้าย จะพูดถึงความบาดหมางระหว่าง John กับ Paul หลังการแยกวง และอะไรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคู่นักแต่งเพลงที่ดีที่สุดคู่หนึ่งในประวัติศาสตร์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น